กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
คุณอรุณี ตันติมังกร และ คุณศุภกร เอกชัยไพบูลย์
ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment Social Governance: ESG) คือ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิด เป้าหมาย พัฒนาการ และผลการดำเนินงานสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลแก่ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกกันว่า รายงานความยั่งยืน (sustainability report) ซึ่งนิยมเปิดเผยเป็นรายปี
รายงานความยั่งยืน เป็นช่องทางสำคัญในการดึงดูดผู้ลงทุนและเพิ่มความเชื่อมั่นให้ธุรกิจ อีกทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้แนวคิดการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) แพร่หลายอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ว่าตลาดทุนชั้นนำ ทั่วโลกพิจารณาผลการดำเนินงานด้าน ESG จากการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนเพื่อไปจัดทำดัชนีความยั่งยืน (sustainability index) เช่น Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI (สหรัฐอเมริกา) SGX Sustainability Index (สิงคโปร์) ซึ่งช่วยให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากรายงานทางการเงินเพื่อไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน สอดคล้องกับผลสำรวจของนิตยสาร MIT Sloan Management Review ที่พบว่า 60% ของผู้ลงทุนและผู้จัดการกองทุนกว่า 3,000 คนทั่วโลก อ่านรายงานความยั่งยืนและเห็นว่าข้อมูลด้าน ESG จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ รายงานความยั่งยืนยังเป็นเครื่องมือสร้างโอกาสทางธุรกิจจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ เช่น การสำรวจของ The Boston College Center for Corporate Citizenship and EY พบว่าการเปิดเผยข้อมูล ESG จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมงานกับองค์กร โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะความรู้และสวัสดิการต่างๆ ที่องค์กรจัดสรรให้พนักงาน อีกทั้งเป็นช่องทางให้ลูกค้าและคู่ค้าของธุรกิจรับทราบผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันมีหน่วยงานระดับสากลได้ร่วมกันพัฒนากรอบการรายงานความยั่งยืนให้สามารถตอบสนองต่อความสนใจของ ผู้มีส่วนได้เสียให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น Global Reporting Initiative (GRI) และ International Integrated Reporting Council (IIRC)
เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง GRI และ IIRC
GRI IIRC
กลุ่มเป้าหมายหลัก ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ผู้ลงทุน
วิธีการ รายงานแยกผลประกอบการ (financial performance) กับผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (non-financial performance) คำนวณผลประกอบการ (financial performance) ร่วมกับผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (non-financial performance)
GRI จากกรอบการรายงานสู่มาตรฐานความยั่งยืนสากล
GRI ถือเป็นกรอบการรายงานความยั่งยืนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดขณะนี้ เนื่องจากมีตัวชี้วัดการรายงานที่เข้าใจง่าย ชัดเจน และไม่ซับซ้อน เหมาะกับองค์กรทุกประเภท ทุกขนาด และทุกอุตสาหกรรม จากการสำรวจข้อมูลของ GRI
พบว่า 82% ขององค์กรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 250 แห่งรายงานความยั่งยืนตามกรอบ GRI และพบว่ามีองค์กร จำนวน 10,557 แห่งทั่วโลกรายงานตามกรอบ GRI โดยมีการเผยแพร่รายงานแล้วกว่า 27,000 ฉบับ สำหรับประเทศไทยมีองค์กร จำนวน 177 แห่งใช้ GRI เป็นกรอบการรายงานโดยเผยแพร่ไปแล้ว 342 ฉบับ
GRI เป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งโดยสำานักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเครือข่าย Ceres โดยเผยแพร่แนวปฏิบัติการรายงานเป็นครั้งแรกในปี 2543 เรียกว่า ฉบับ G1 จากนั้นได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่ง มาถึงฉบับ G4 ในปัจจุบัน ที่มีการปรับปรุงให้แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง โดยเน้นคุณภาพการรายงานมากกว่าปริมาณ การรายงานโดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลในประเด็นการวิเคราะห์และคัดเลือกประเด็นสำาคัญของธุรกิจ (Material Aspects) และประเด็นการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร (Stakeholder Analysis) อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงระดับของการรายงาน ที่แต่เดิมกำหนดเป็น Level A, B, C ทำให้เกิดความสับสนว่า การให้เกรดเป็นการบ่งชี้คุณภาพของการรายงาน ซึ่งที่จริงแล้ว เป็นเพียงมาตรวัดปริมาณหรือระดับของการเปิดเผยข้อมูลตามแนวทาง GRI ดังนั้น GRI G4 นี้จึงใช้การวัดตามหลักเกณฑ์ ที่เรียกว่า 'In Accordance' ในแบบหลัก (Core)2 หรือแบบรวม (Comprehensive)3 แทนวิธีการให้ Level ซึ่งจะทำาให้องค์กร โฟกัสให้ความสำคัญกับเนื้อหาการรายงานให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจและความสนใจของผู้มีส่วนได้เสียมากยิ่งขึ้น
จากความนิยมใน GRI ฉบับ G4 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2559 GRI ได้ออกมาตรฐานการรายงาน "GRI Standards" ทดแทนฉบับ G4 ที่จะสามารถใช้ได้ถึงเดือนมิถุนายน 2561 หลังจากนั้น GRI จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ฉบับ GRI Standards อย่างเป็นทางการซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป
พัฒนาการของ GRI
การเปลี่ยนแปลงจาก GRI ฉบับ G4 ไปสู่ GRI Standards นั้นยังคงมีเนื้อหา หลักการ และรูปแบบการรายงานที่เหมือนเดิม ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1. ข้อมูลพื้นฐานการรายงาน (Universal Standards) ได้แก่ ข้อมูลบริษัท การกำากับดูแลกิจการ กลยุทธ์องค์กร ความเสี่ยง ประเด็นสำคัญของธุรกิจ (Material Aspects) และการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Analysis)
2. ข้อมูลเฉพาะที่ครอบคลุมประเด็นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Topic-specific Standards)
สำาหรับส่วนที่แตกต่างไปจากเดิม คือ โครงสร้างการรายงานที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น และลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล การรายงานโดยการเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดที่สำคัญบางตัว นอกจากนี้โครงสร้างของ GRI Standards ได้ออกแบบให้รองรับ การเปลี่ยนตัวชี้วัดหรือข้อกำหนดภายในในอนาคตโดยไม่ต้องทบทวนใหม่ทั้งฉบับ ดังนั้น องค์กรใดที่เคยรายงานตาม กรอบ G4 มาแล้วจึงแทบไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการรายงาน แต่อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาและติดตามการอัพเดทข้อมูล จาก GRI อย่างสม่ำาเสมอ
GRI Standards ไม่ใช่แค่กรอบการรายงานอีกต่อไป
"คุณค่าของการทำรายงานความยั่งยืนอยู่ที่กระบวนการได้มาซึ่งข้อมูล ไม่ใช่การได้รูปเล่มรายงาน"
แม้ว่ารูปแบบและโครงสร้างการรายงานคล้ายกับ G4 แต่วัตถุประสงค์ของ GRI Standards ที่ไม่ได้เป็นเพียงการรายงานเพื่อสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเป็น checklist ที่ช่วยให้องค์กรนำไปวางแผนกลยุทธ์ในระยะยาว จากบทความ "Sustainability Reporting As a Tool for Better Risk Management" ในนิตยสาร MIT Sloan Management Review 2016 โดย Michael Meehan ระบุว่า การรายงานตาม GRI จะทำให้องค์กรเห็นช่องว่างระหว่างการดำเนินธุรกิจกับความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่า เมื่อองค์กรเข้าใจแล้วว่าต้องดำเนินการอย่างไรที่จะปิดช่องว่างเหล่านั้นก็จะทำให้เกิด กระบวน "การพัฒนา" เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น GRI จึงเป็นเรื่องของการจัดการธุรกิจไม่ใช่แค่การทำความดี
กระบวนการจัดทำรายงานความยั่งยืน
โดยเฉพาะกระบวนการเก็บข้อมูล การเรียบเรียงและเชื่อมโยงข้อมูลกับกลยุทธ์องค์กร การวัดและประเมินผลการดำเนินงาน 3 สิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญของการจัดทำรายงาน โดยในแต่ละขั้นตอนจะทำให้องค์กรเห็นพัฒนาการและสามารถลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะดำเนินการก่อนหลังได้ อีกทั้งช่วยให้ฝ่ายบริหารมีข้อมูลในการตัดสินใจที่อาจนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการแข่งขัน เพิ่มมูลค่า และคุณค่าให้แก่ธุรกิจอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การจัดทำรายงานความยั่งยืนสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบตามความพร้อมขององค์กร จะเป็นส่วนหนึ่งของรายงานประจำปีหรือแยกออกมารายงานต่างหากก็ดี หรือจะเผยแพร่ในรูปเล่มรายงาน ซีดี หรือข้อมูลบนเว็ปไซต์องค์กรก็ดี แต่ต้องคำนึงถึงผู้อ่าน และความเหมาะสมของช่องทางเผยแพร่ข้อมูลที่เข้าถึงง่ายและรวดเร็ว ปัจจุบันมีการนำสื่อเทคโนโลยี สมัยใหม่มาช่วยนำเสนอข้อมูล ESG ให้มีความน่าสนใจดึงดูดผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ซึ่งอาจนำเสนอในรูปแบบ Infographic หรือ Motion Clip เพื่อเผยแพร่ไนโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เกิดผลลัพธ์และภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงมุ่งส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีการจัดทำรายงานความยั่งยืนประจำปีตามแบบ 56-1 ของสำนักงาน ก.ล.ต. และกรอบการรายงานความยั่งยืนสากล GRI อย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดโปรแกรมฝึกอบรมและทีมงานที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการเริ่มต้นการจัดทำรายงานความยั่งยืน ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานตามกรอบ GRI แล้ว 74 แห่ง และมีแนวโน้มที่จะมีการจัดทำรายงานความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI เพิ่มมากขึ้น สุดท้ายนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าการจัดทำรายงานความยั่งยืนจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเป็นเข็มทิศในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน และยังเชื่อว่าคุณค่าของการทำรายงานความยั่งยืนอยู่ที่กระบวนการได้มาซึ่งข้อมูล ไม่ใช่การได้รูปเล่มรายงาน