กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--ซี.เอ.อินโฟ มีเดีย
นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย "ปทุมธานีโมเดล" ชุมชนแก้วนิมิตร ซึ่งเป็นชุมชนแรกที่เข้าร่วมโครงการ และได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เพื่อจัดซื้อที่ดินและสร้างบ้านใหม่ จำนวน 98 หลังคาเรือน (100 ครอบครัว) ซึ่งเริ่มก่อสร้างบ้านตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ปัจจุบัน การก่อสร้างบ้านใหม่เกือบแล้วเสร็จทั้งโครงการ ณ ชุมชนแก้วนิมิตร ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
นายไมตรี กล่าวว่า ชุมชนแก้วนิมิตร เดิมปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองหนึ่ง ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เมื่อรัฐบาลมีโครงการแก้ไขปัญหาชุมชนที่รุกล้ำลำคลองสาธารณะในจังหวัดปทุมธานี โดยเฉพาะในบริเวณริมคลองหนึ่ง ชุมชนแก้วนิมิตรเป็นชุมชนแรกที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย "ปทุมธานีโมเดล" โดยรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และในเวลาต่อมาได้จัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถาน ใช้ชื่อว่า "สหกรณ์บ้านมั่นคงไทยมุสลิมสามัคคี จำกัด" มีสมาชิกจำนวน 100 ครัวเรือน จัดซื้อที่ดินแปลงใหม่ขนาด 5 ไร่ 42 ตารางวา (อยู่ห่างจากชุมชนเดิมประมาณ 5 กิโลเมตร) เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่จำนวน 98 หลังคาเรือน (100 ครอบครัว) ทั้งนี้ พอช. ได้สนับสนุนการจัดสร้างบ้านใหม่ โดยมีแบบบ้านทั้งหมด 3 แบบ คือ 1) บ้านแฝดสองชั้น ขนาด 56 ตารางเมตร 2) บ้านแฝดสองชั้น ขนาด 63 ตารางเมตร และ 3) บ้านแฝดสองชั้น ขนาด 77 ตารางเมตร ซึ่งราคาก่อสร้างพร้อมที่ดินต่อหลังประมาณ 272,000 - 295,000 บาท ระยะเวลาผ่อนส่ง 15 ปี อัตราผ่อนส่งเดือนละ 2,500 - 3,000 บาท
นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า พอช. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยปทุมธานีโมเดล (ศปก.ทปม.) เพื่อบูรณาการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาและจัดสร้างบ้านมั่นคงรองรับชาวบ้านริมคลองในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 16 ชุมชน รวม 1,084 ครัวเรือน โดย ศปก.ทปม. มีแผนรองรับเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวบ้านอยู่ที่รุกล้ำลำคลอง 4 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 จัดทำโครงการบ้านมั่นคงในที่ดินราชพัสดุบริเวณคลองเชียงรากใหญ่ พื้นที่ 30 ไร่ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการออกแบบผังชุมชนและออกแบบบ้าน เบื้องต้นมีชาวบ้านที่จะเข้าร่วมจำนวน 289 ครัวเรือน แนวทางที่ 2 พัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม รวม 65 ครัวเรือน แนวทางที่ 3 จัดซื้อที่ดินแปลงใหม่จากเอกชน เพื่อสร้าง บ้าน รองรับชาวบ้าน จำนวน 129 ครัวเรือน เช่น ชุมชนแก้วนิมิตร ซื้อที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่เศษ ขณะนี้ การสร้างบ้าน 98 หลังคาเรือน (100 ครัวเรือน) ใกล้จะแล้วเสร็จทั้งชุมชน และ แนวทางที่ 4 เช่าหรือซื้ออาคารในโครงการที่มีอยู่แล้ว
"ชุมชนแก้วนิมิตร เป็นชุมชนตัวอย่างที่ชาวชุมชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการจัดระเบียบชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำคลอง ซึ่งถือว่าเป็นการคืนคลองให้แก่สังคม เพื่อให้การระบายน้ำคล่องตัว น้ำในคลองไหลได้สะดวก เพราะไม่มีบ้านเรือนตั้งขวางทางเดินของน้ำ สภาพแวดล้อมในคลองจะกลับคืนมา ขณะเดียวกันพี่น้องจะได้มีที่อยู่อาศัยใหม่เป็นของตนเองอย่างมั่นคงถาวรและปลอดภัย ด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อการอยู่อาศัยอย่างมีความสุขในระยะยาว" นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย