กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--มอร์อิมเมจ
ในยุคที่ "สินค้าเมืองโบราณอู่ทอง" ไม่ได้เป็นที่รู้จักเพียงเฉพาะในชุมชุนหรือแค่คนในท้องถิ่น แต่กลับขยายขอบเขตเป็นสินค้าที่จำหน่ายไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายของที่ระลึก และนิทรรศการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวต่าง ๆ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จึงได้นำมาเป็นวาระสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดสินค้าการเกษตร โดยความร่วมมือจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่นำวิทยาการความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะเฉพาะด้านของคณาจารย์ ร่วมกันพัฒนาบรรจุภัณฑ์ "สินค้าเมืองโบราณอู่ทอง" ให้มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่น ทันสมัย และสามารถวางจำหน่ายผ่านได้ทุกช่องทาง
นายสมจินต์ ชาญกระบี่ รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง กล่าวว่า ปัจจุบันเมืองโบราณอู่ทอง มีเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวหลักเพื่อสร้างและกระจายโอกาสการท่องเที่ยวมายังแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบ จึงเกิดกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง โดยชุมชนสามารถบริหารการจัดการแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ให้มีความพร้อมสมบูรณ์ จนสามารถจัดทำเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวหรือโปรแกรม การท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองโบราณอู่ทองอย่างเป็นรูปธรรมและนำไปสู่ชุมชนอยู่ดี มีสุข โดยส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนจากกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษและสร้างรายได้ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนสามารถมีแนวคิดในการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว และสามารถเชื่อมโยงกับโอกาสทางการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชนมีความคิดริเริ่ม และต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาพัฒนาและยกระดับสินค้าเมืองโบราณอู่ทองเพื่อให้เป็นสินค้าที่ระลึก และเกิดรูปแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเอกลักษณ์ในท้องถิ่นและเชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม โดยอาศัยการต่อยอดจากเรื่องราว ภูมิปัญญา และอัตลักษณ์ท้องถิ่นในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง นำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนหรือการจ้างงานในพื้นที่ อันจะก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และยกระดับสินค้าไปสู่สากล ต่อไปในอนาคตได้
"ดังนั้น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีหน้าที่และบทบาทสำคัญทางการตลาดมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อยอดขายสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าวิสาหกิจชุมชน (OTOP) ที่มีความคล้ายคลึงกันและมีสินค้าที่ออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก ดังนั้น บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม โดดเด่นสะดุดตา หรือมีคุณลักษณะที่แปลกกว่า ก็จะมีความได้เปรียบในการดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค และส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ/ไม่ซื้อของผู้บริโภคได้ ทั้งยังสามารถสร้างจุดขายโดยนำไปเป็นของฝากหรือของที่ระลึกที่สามารถ สร้างความประทับใจระหว่างผู้ให้และผู้รับได้เป็นอย่างดี" นายสมจินต์ กล่าว
นายสมจินต์ กล่าวต่อว่า นอกจากการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นแล้วนั้น เรายังได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อัตลักษณ์เด่นของพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สนับสนุนการท่องเที่ยว โดยจัดผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและลงพื้นที่พบผู้ประกอบการพร้อมสำรวจแหล่งข้อมูล จัดกิจกรรมเวิร์คช็อป (Work Shop) ระหว่างผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญ โดยจัดทำแนวคิดผลิตภัณฑ์ (Product Idea) สามารถกำหนดเป็นแบบร่างของผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นไปได้ในด้านการผลิต การดำเนินการ และด้านการตลาดการท่องเที่ยว ให้คำแนะนำผู้ประกอบการแต่ละรายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมบรรจุภัณฑ์ และเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เกิดการสร้างรายได้และมีความมั่นคงในอาชีพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ช่วยขับเคลื่อนการยกระดับการพัฒนากระบวนการผลิต โดยเฉพาะด้านบรรจุภัณฑ์ ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน จนสามารถที่จะจำหน่ายในตลาดระดับบนได้
"ที่สำคัญ การที่ผู้ประกอบการสินค้าวิสาหกิจชุมชนจะประสบผลสำเร็จได้ในระยะยาวนั้น นอกจากการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าจึงเป็นหนึ่งกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น และใช้สร้างความแตกต่างจากสินค้าในตลาดเพื่อเป็นจุดเปลี่ยนให้ได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจ ควรติดตามข่าวสาร ตลอดจนศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับการพัฒนา และปรับปรุงบรรจุภัณฑ์อยู่เสมอ เพื่อจะได้นำมาต่อยอดพัฒนาเป็นแนวคิดในการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์สินค้าในอนาคต" รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง กล่าวในที่สุด