กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้นทุกชนิดโดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น1.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในสัปดาห์สิ้นสุด23 มิ.ย.60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 9.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบบริเวณ Gulf of Mexico หยุดดำเนินการจากพายุ Cindy
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่น (Rig) ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 30 มิ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น มาอยู่ที่ 756 แท่น ลดลงเป็นสัปดาห์แรกตั้งแต่เดือน ม.ค. 60
· รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซีย นาย Kirill Molodtsov แถลงว่ารัสเซียลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 60 ลง 310,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่าข้อตกลงกับกลุ่ม OPEC ที่ให้ลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 300,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ในเดือน พ.ค. 60 รัสเซียผลิตน้ำมันดิบ 10.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· กรมศุลกากรจีน (General Administration of Customs) รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน พ.ค. 60เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 660,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 8.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยนำเข้าจาก 3 ประเทศหลัก ประกอบด้วย รัสเซียปริมาณ 1.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 660,000 บาร์เรลต่อวัน) นำเข้าจากแองโกลา 1.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 550,000 บาร์เรลต่อวัน) และซาอุดีอาระเบีย 1.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน)
· Reuters ประเมินปริมาณน้ำมันดิบที่เก็บในเรือลอยลำกลางทะเล (Floating Storage) ณ ทะเลเหนือ ล่าสุดอยู่ที่ 6 ล้านบาร์เรล ลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่ 9 ล้านบาร์เรล (สูงสุดในรอบ 4 เดือน) เนื่องจากโครงสร้างของส่วนต่างราคาปัจจุบันเทียบกับอนาคตในตลาดซื้อขายล่วงหน้าเปลี่ยนแปลง และไม่เอื้อต่อการทำ Floating Storage
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ในสัปดาห์สิ้นสุด 23 มิ.ย.60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ปริมาณ 100,000 บาร์เรล อยู่ที่ 509.2 ล้านบาร์เรล
· กระทรวงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของอินเดียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศ เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 733,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 0.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
· Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบีย (หนึ่งในสมาชิก OPEC ที่ไม่ต้องลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เพราะอยู่ระหว่างการฟื้นฟูความเสียหายจากเหตุความวุ่นวายในประเทศ) เพิ่มขึ้นจาก 935,000 บาร์เรลต่อวัน มาสู่ระดับ 1,000,000 บาร์เรลต่อวัน ในวันที่ 30 มิ.ย. 60 หลังจาก Arabian Gulf Oil Company (AGOCO) บริษัทลูกของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) สามารถสูบถ่ายน้ำมันดิบจากถังเก็บน้ำมันที่แหล่ง Al-Majid (กำลังการสูบถ่าย 5,000 บาร์เรลต่อวัน) ได้หลังปิดดำเนินการมา 8 เดือน เนื่องจากระบบไฟฟ้าขัดข้อง
· Paraguana Refining Center ของเวเนซุเอลาที่ประกอบด้วย โรงกลั่น Amuay (กำลังการกลั่น 645,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Carson (กำลังการกลั่น 310,000 บาร์เรลต่อวัน) จะเดินเครื่องในเดือน ก.ค. 60 ที่ระดับ 42% ลดลงจากแผนเดิม 46% เพราะขาดอะไหล่ซ่อมบำรุง และไม่มีน้ำมัน Light Oil สำหรับผสม Heavy Crude ก่อนนำเข้ากลั่น ทำให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลา-PDVSAต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่ซึ่งขายเรียกร้องให้ชำระเงินล่วงหน้า เพราะเกรงว่า PDVSA จะไม่สามารถชำระเงินได้
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 มิ.ย.60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ลดลง 55,236 สัญญา มาอยู่ที่ 159,859 สัญญา ต่ำสุดในเดือน พ.ย. 59
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 23 สัปดาห์ ทั้งนี้จำนวนแท่นโดยรวมในไตรมาสที่ 2/60 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 94 แท่น อย่างไรก็ดีจำนวนแท่นชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/60 ที่เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสก่อน 137 แท่น นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตามองความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ที่จะช่วยลดปริมาณสำรองน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง โดยทั่วไปในเดือน ก.ค. จะเป็นเดือนที่ปริมาณสำรองน้ำมันของสหรัฐฯ ลดลงมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงการท่องเที่ยว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ลดลงเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2.9 ล้านบาร์เรล ในเดือน ก.ค. และในปีนี้American Automobile Association คาดว่าชาวอเมริกันจะท่องเที่ยวทางรถยนต์ ในช่วงวันหยุดวันชาติอเมริกา เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1 ล้านราย และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 อีกทั้งในช่วงเดือน มิ.ย. 60 ที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงมามากเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการช่วยระบายปริมาณสำรองอีกทางหนึ่ง นักวิเคราะห์และนักลงทุนหลายสำนักมองว่าราคาน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. นี้จะบ่งบอกทิศทางราคาน้ำมันดิบในช่วงครึ่งหลังของปี หากปริมาณสำรองลดลงอย่างมีนัยสำคัญอาจช่วยให้บรรยากาศการซื้อขาย (Sentiment) ดีขึ้น อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้าม หากปริมาณสำรองไม่ลดลงอย่างที่คาด ตลาดอาจกลับมา Bearish อีกครั้งเหมือนช่วงเดือน มิ.ย. 60 ที่ผ่านมา ให้จับตามองปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC ที่ล่าสุดในเดือน มิ.ย. 60 Reuters คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 32.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในปี พ.ศ. 2560 เนื่องจากลิเบียและไนจีเรียซึ่งไม่อยู่ภายใต้มาตรการลดกำลังการผลิตสามารถผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น และปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง หลังซาอุดีอาระเบียและพันธมิตร ขยายระยะเวลาให้กาตาร์พิจารณาข้อเสนอ 13 ข้ออีกภายใน 48 ชั่วโมง โดยขู่ว่าหากไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าวอาจจะมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มขึ้น (ข้อเสนอ 13 ข้อ อาทิ การปิดสำนักข่าว Al Jazeera, การถอนฐานทัพของตุรกีในประเทศกาตาร์ และการลดความสัมพันธ์กับอิหร่าน) ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 47-51 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 45-49 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ น้ำมันดิบ DUBAI อยู่ในกรอบ 45.5 -49.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจาก EIA และ American Automobile Association (AAA) คาดอุปสงค์น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ช่วงวันหยุดวันชาติสหรัฐฯ ตั้งแต่ 30 มิ.ย. – 4 ก.ค. 60 แข็งแกร่ง จากจำนวนผู้ขับขี่ยานยนต์ 37.5 ล้านคน ขับขี่ด้วยระยะทางเฉลี่ย 80 กิโลเมตรต่อคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนผู้ขับขี่ 36.5 ล้านคน ทั้งนี้อุปสงค์น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ คิดเป็น 10% อุปสงค์น้ำมันเบนซินโลก ประกอบกับ บริษัท PEMEX นำเข้าน้ำมันเบนซิน3.5 ล้านบาร์เรล เพื่อใช้ในประเทศระหว่างโรงกลั่น Salina Cruz (กำลังการกลั่น 330,000 บาร์เรลต่อวัน) ปิดซ่อมแซมความเสียหายจากเพลิงไหม้ ซึ่งจะกลับมาดำเนินการวันที่ 30 ก.ค. 60 ด้านอุปทานน้ำมันกรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน พ.ค. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 30% มาอยู่ที่ 175,000 บาร์เรลต่อวัน ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 60 และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯสัปดาห์สิ้นสุด 23 มิ.ย. 60 ลดลง 900,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 241.0 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 24 มิ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 300,000 บาร์เรล หรือ 2.2% อยู่ที่ 11.6 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 680,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.15 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดการณ์ราคาน้ำมันเบนซินเคลื่อนไหวในกรอบ 58.0-63.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจากกรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน พ.ค. 60ทรงตัวจากจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 296,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ บ่งชี้ว่าความต้องการใช้ภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง อีกทั้ง Reuters รายงานว่า Formosa Petrochemical Corp. (FPC) ของไต้หวันอาจงดส่งออกน้ำมันดีเซลในตลาดจรไปจนกระทั่งไตรมาสที่ 4/60 เพราะผลตอบแทนการกลั่น (Refining Margin) ลดลง อีกทั้งตลาดได้แรงหนุนจากอินเดียนำเข้า เนื่องจากโรงกลั่นในประเทศปิดซ่อมบำรุง อาทิ Hindustan Petroleum Co., Ltd. (HPCL) ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซลปริมาณ 490,000 บาร์เรล ส่งมอบ 25-29 ก.ค. 60 อีกทั้ง บริษัท Imopetro ของโมซัมบิกออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.005%S ปริมาณ 5.10 ล้านบาร์เรล ส่งมอบช่วงครึ่ง หลังของปี พ.ศ. 2560 นอกจากนั้น IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 มิ.ย. 60 ลดลงจาก สัปดาห์ก่อน 250,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.99 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 5 เดือนครึ่ง อย่างไรก็ตาม Platts รายงานการซื้อขายน้ำมันดีเซลในตลาดยุโรปเงียบเหงา เนื่องจากอุปทานน้ำมันดีเซลบริเวณ เมดิเตอร์เรเนียนมีเพียงพอ ขณะที่แรงซื้อจากแอฟริกาเหนือเบาบาง เพราะผู้ค้าน้ำมันชะลอการซื้อน้ำมันดีเซลเนื่องจากไนจีเรียและกานาเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันดีเซลไม่ให้มีกำมะถันสูงกว่า 50 PPM หรือ 0.05% S ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 60ช ด้านปริมาณสำรองในญี่ปุ่น PAJรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 24 มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากจากสัปดาห์ก่อน 100,000บาร์เรล หรือ 0.6 % อยู่ที่ 9.2 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวในกรอบ 56.5-61.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล