กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น
มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานแถลงข่าว "การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2560" ณ อาคารอุทยานนวัตกรรม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาพัฒนาให้เกิดการต่อยอดเป็นผลงานนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ "ข้าวไทย" ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวไทย และรูแบบการพัฒนานวัตกรรมข้าวไทย
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า "ที่ผ่านมามูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสนช. ได้ร่วมกันจัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันซึ่งก้าวสู่ปีที่ 11 เพื่อคัดเลือกผลงานนวัตกรรมข้าวไทยที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพสูงในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมานั้นมีผลงานนวัตกรรมข้าวไทยส่งเข้าประกวดรวมทั้งสิ้นกว่า 400 ชิ้น และมีผลงานที่ได้รับรางวัลมากกว่า 45 ผลงาน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าความสนใจในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าข้าวในประเทศมีเพิ่มขึ้นมาก จึงไม่แปลกเลยที่จะเห็นผลิตภัณฑ์ข้าวใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันคนไทยเริ่มตื่นตัวมากขึ้นกับการคิดค้นและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากโดยเฉพาะจากข้าว ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากและควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืน"
รางวัลแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยใช้เกณฑ์การตัดสินความเป็นนวัตกรรมของผลงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวไทย และศักยภาพในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 80,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และอันดับสองได้เงินรางวัล 40,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ และรางวัลชมเชยจำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท สำหรับในปีนี้ จะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่ 1 เมษายน - 31 กรกฎาคม 2560
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า "สนช. วางเป้าหมายในการยกระดับข้าวในเชิงพาณิชย์ ซึ่งต่อไป "ข้าว" ที่เป็นสินค้าเกษตร จะไม่ใช่เพียงสินค้าโภคภัณฑ์เท่านั้น แต่งจะต้องปรับเปลี่ยนจาก "เกษตรแบบดั้งเดิม"ไปสู่ "เกษตรอุตสาหกรรม" และก้าวไปสู่ "เกษตรบริการ หรือธุรกิจเกษตร" ที่มีการใช้นวัตกรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย ดังนั้นข้าวจะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมาก และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยที่ผ่านมา สนช. มุ่งเน้นผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในข้าวให้ก้าวสูงขึ้นด้วยการพัฒนาธุรกิจใหม่บนฐานความรู้ และการใช้นโยบายนวัตกรรมข้าวไทยในเชิงรุกผ่านการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมของ สนช. ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมา สนช. ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ทำนวัตกรรมจากข้าวไปแล้ว จำนวนมากกว่า 50 โครงการ มูลค่าการสนับสนุนประมาณ 50 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนรวมกว่า 390 ล้านบาท"
"การดำเนินแนวทางประชารัฐที่มีบูรณาการร่วมกันระหว่าง สนช. ผู้ประกอบการ และเกษตรกรไทย จะสามารถเร่งรัดให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมข้าวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่จากข้าวที่มีมูลค่าเพิ่มสูงนั้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะกระจายไปในทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม หรือผู้ประกอบการ เกษตรกร ชาวนาผู้ปลูกข้าว ดังนั้น โอกาสทางเศรษฐกิจที่เราสามารถแข่งขันได้ ก็คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีโอกาสขยายตัวสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว ในกลุ่มของอาหารสุขภาพ กลุ่มอาหารเพื่อความสะดวกสบาย และกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและยา ซึ่งหากมีการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้กับผลผลิตด้านการเกษตร มีสินค้านวัตกรรมที่พัฒนาจากข้าวไทยที่หลากหลายต่อเนื่อง ย่อมเกิดการสร้างธุรกิจใหม่ ตลาดใหม่ และแหล่งรายได้ใหม่ที่มากยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้เกษตรกรมีโอกาสลดความผันผวนของราคาข้าวได้มากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องขายในรูปของข้าวสารเพียงอย่างเดียว เป็นการสร้างทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกรไทยได้อีกด้วย"
นางสาวทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ สอว. กล่าวว่า "สอว. เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบทบาทและภารกิจในการหลักในการสนับสนุนอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการวิจัยเพื่อกระตุ้นการทำวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ และการผลักดันงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมมุ่งเน้นของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ได้แก่ อุตสาหกรรมข้าว ซึ่งได้มีการพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 โดยในปัจจุบันมีเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคจำนวน 13 มหาวิทยาลัย และมีแผนงานการมุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมข้าวตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม ดังนั้น จึงได้เข้าร่วมในการสนับสนุนการเฟ้นหาผลงานนวัตกรรมข้าวส่งเข้าร่วมการประกวดในปีนี้เป็นปีแรก นับว่าเป็นโอกาสอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสนับสนุนและเชิดชูผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้าวภายใต้การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางให้ผู้เข้าร่วมประกวดรายอื่นได้ทราบถึงบทบาทและความสำคัญของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่มีศักยภาพและพร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่สนใจในอนาคต"