กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเมื่อวันที่ 28-29 มิย.2560 ติดตามการปฏิรูปพัฒนาเศรษฐกิจ 4 จังหวัดในภูมิภาคเขตตรวจราชการที่ 13 ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ภาคเอกชนและภาคการศึกษาร่วมประชุมและหารือร่วมกัน เผยความก้าวหน้าของกองทุนหมู่บ้านในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเผยผลสำเร็จการปลูกข้าวนาแปลงใหญ่ลดต้นทุนการผลิตจากเดิมไร่ละ 3,980 บาท เหลือ 2,720 บาทต่อไร่ หนุนใช้ทคโนโลยีพัฒนา Smart Farm มุ่งทำเกษตรยุคไทยแลนด์ 4.0
กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง ได้ดำเนินงานพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ โดยจังหวัดอุบลราชธานีมุ่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้เชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV ด้านจังหวัดศรีสะเกษมุ่งพัฒนาด้านปศุสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงแพะและสวนผลไม้ ทุเรียนภูเขาไฟ ส่วนจังหวัดยโสธรมุ่งพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร สามารถปลูกข้าวหอมมะลิได้มากที่สุดในประเทศไทย และจังหวัดอำนาจเจริญมุ่งพัฒนาข้าวหอมมะลิ ทำเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ ส่งเสริมการลงทุนตามชายแดน ซึ่งมีผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมฯ กลุ่ม Biz Clubประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ รวมถึงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ร่วมประชุมหารือในประเด็นการพัฒนาพื้นที่ และกำหนดยุทธศาสตร์ประชารัฐของแต่ละจังหวัด เพื่อกำหนดแนวทางในการเชื่อมโยงการค้ากับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านให้รองรับสู่เป้าหมาย Thailand 4.0 ร่วมกัน
ในการเดินทางลงพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 13 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ยังได้ติดตามความคืบหน้าของร้านค้าชุมชนประชารัฐ ตามโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ บ้านนาดี หมู่ 2 ตำบลยางสักกระโพหลุ่ม อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายคนิจ แก่นจันทร์ นายอำเภอม่วงสามสิบ ประธานร้านค้า และสมาชิกร้านค้าชุมชนประชารัฐ รายงานผลการดำเนินงานร้านค้าชุมชนประชารัฐบ้านนาดี เปิดดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 มีสมาชิก 140 ครัวเรือน โดยรับการสนับสนุนจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 500,000 บาท เพื่อนำมาบริหารจัดการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ประชาชนได้ซื้อหาสินค้าในราคายุติธรรมร้านค้าชุมชนประชารัฐ ส่งเสริมให้เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลกำไรจะส่งคืนชุมชนในรูปของทุนการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน และปันผลให้กับสมาชิกของร้านค้าชุมชนประชารัฐ นับเป็นการส่งเสริมศักยภาพและรายได้ในการประกอบอาชีพ ส่งผลให้ความเป็นอยู่ในชุมชนดียิ่งขึ้น
จากนั้น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางตรวจเยี่ยมสถาบันการเงินชุมชน บ้านหนองงูเหลือม อำเภอเบญลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดนมีนายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ผู้นำชุมชนและประธานสถาบันการเงินชุมชน ร่วมรายงานการดำเนินงานของสถาบันการเงินได้รวมกลุ่มจัดตั้งในฐานะกองทุนหมู่บ้านในปี 2552 ซึ่งได้รับสมัครสมาชิกตำแหน่งเงินทุนในชุมชน ให้ฝาก-ถอน และเป็นแหล่งเงินกู้ให้คนในชุมชนได้ประกอบกิจการ อาทิ ร้านค้าสวัสดิการชุมชน ขายสินค้าชุมชน ทำการเกษตร ปลูกผลไม้ เป็นต้น รวมกลุ่มสมาชิกสร้างรายได้หมุนเวียนภายในชุมชน โดยมีการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และมีสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และธ.ก.ส. ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้องค์ความรู้แก่ชุมชน สามารถยกระดับจากกองทุนหมู่บ้านมาเป็นสถาบันการเงินชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิก 1,134 คน มีเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 15 ล้านบาท
ในการตรวจเยี่ยมโครงการทำเกษตรแปลงใหญ่ ที่แปลงสาธิตศูนย์เรียนรู้นาแปลงใหญ่ ตำบลยางสักกะโพหลุ่ม อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายทวี มาสขาว เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี มีสมาชิก จำนวน 81 คน รายงานผลการดำเนินงานเกษตรแปลงใหญ่ ประสบผลสำเร็จในการปลูกข้าวนาแปลงใหญ่ ที่สามารถลดต้นทุนการผลิต จากเดิมไร่ละ 3,980 บาท เหลือ 2,720 บาทต่อไร่ ทั้งยังสามารถเพิ่มผลผลิตขึ้น 30 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มมูลค่าการผลิต ข้าวคุณภาพ 573 ตัน ในพื้นที่ 1,250 ไร่ และยังมีกิจกรรมส่งเสริมหลังการทำนา ด้วยการปลูกผัก 81 ราย ในพื้นที่ 200 ไร่ รวมถึงการบริหารจัดการผลิตและการตลาด พร้อมกันนี้ได้มอบนโยบายให้กับผู้นำ และสมาชิกกลุ่มเกษตรนาแปลงใหญ่ โดยเน้นให้นำเทคโนโลยีและไอทีมาปรับใช้ในการทำการเกษตร ยกระดับเป็น Smart Farm มุ่งสู่การทำเกษตรยุคไทยแลนด์ 4.0
ทั้งนี้ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายการพัฒนากองทุนหมู่บ้านตามแนวทางประชารัฐ และได้ลงนามในสมุดประชารัฐของสถาบันการเงินชุมชน บ้านหนองงูเหลือม พร้อมกับได้กล่าวถึงกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างว่ามีความเข้มแข็งและศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาได้อย่างมากในอนาคต