กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.
ปัจจุบันประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถแข่งขันและดำรงอยู่ได้ในสังคมโลก ต้องมีการสร้างกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการพัฒนาและวิจัยให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม สอดคล้องกับพันธกิจหลักของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ผลิตบัณฑิตและบุคลากรให้มีทักษะเชิงปฏิบัติควบคู่กับทฤษฎีซึ่งจะมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การประยุกต์ใช้สหวิทยาการ สามารถพัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในส่วนการเพิ่มผลผลิตและการเพิ่มคุณภาพชีวิตสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
วิชาสตูดิโอวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics Studio) เป็นหนึ่งในวิชาหลักของสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มจธ. เป็นวิชาเรียนของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่จะได้นำความรู้จากการเรียนวิชาต่างๆ มาประยุกต์รวมกันเพื่อให้เกิดผลงานนวัตกรรม ล่าสุดจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงาน ภายใต้ธีม "Robotics Food Fair" โชว์ศักยภาพผลงานหุ่นยนต์ทำอาหารหลากหลายชนิด เช่น ก๋วยเตี๋ยว กะเพรา ส้มตำ แพนเค้ก ผัดไท เป็นต้น โดยงานนี้มีผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และบุคคลทั่วไปสนใจเข้าเยี่ยมชมพร้อมนำไอเดียและผลงานต่อยอดเชิงพาณิชย์อีกด้วย
นายธนัท โชคสัจจะวาที หนึ่งในสมาชิกของผลงาน หุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยว (Noodbot) โดยมี อาจารย์ธนัชชา ชูพจน์เจริญ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า "ได้รับโจทย์ให้ทำหุ่นยนต์ที่เป็นแขนกลและสามารถทำอาหารได้ กลุ่มจึงคิดทำหุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยว เพราะเห็นว่ากระบวนการในการทำก๋วยเตี๋ยวมีหลายขั้นตอน เพื่อเป็นหุ่นยนต์ต้นแบบที่สามารถทำก๋วยเตี๋ยวได้ตั้งแต่การลวกเส้นก๋วยเตี๋ยวใส่ชาม ใส่เครื่อง และเติมน้ำซุป ซึ่งหุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยวนี้เป็นหุ่นยนต์ต้นแบบที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และพร้อมใช้งานได้จริง การเรียนวิชาสตูดิโอวิทยาการหุ่นยนต์ทำให้ได้นำความรู้จากที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ทั้งยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำเสนอผลงานในงานแสดงนิทรรศการ เพื่อเผยแพร่ผลงานที่ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น"
นางสาวพีรยา พงศ์ปัญญา หนึ่งในสมาชิกของผลงาน หุ่นยนต์ผัดกะเพรา (Captain Cook) โดยมี อาจารย์บวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า "เลือกที่จะทำหุ่นยนต์ผัดกะเพรา เพราะเห็นว่าเวลาสั่งอาหาร บางครั้งมักจะนึกไม่ออกว่าจะกินอะไร ก็เลยเอาเมนูง่ายๆ ที่ติดปาก คือ ผัดกะเพรา โดยหุ่นยนต์ผัดกะเพราที่ทำขึ้นนี้สามารถทำผัดกระเพรา ทอดกระเทียม และผัดน้ำมันหอย โดยจะใช้แขนกลในการหยิบวัตถุดิบ ร่วมกับการทำงานของระบบสั่งการที่เรียก Artificial Intelligence เพื่อดูว่าวัตถุในการผลิตคืออะไร แล้วจะสั่งการให้หยิบวัตถุดิบในการผลิตตามที่ต้องการได้ นอกจากนี้ยังสามารถใส่เครื่องปรุงเพื่อใช้ในการทำอาหาร เมื่อใส่วัตถุดิบในการทำอาหารลงในกระทะเรียบร้อยแล้ว จะมีระบบสั่งการไปที่แขนกลตัวที่ยึดติดอยู่กับกระทะ และมีแขนกลที่เป็นตะหลิวสำหรับทำการคลุกเคล้าอาหารให้เข้ากัน และนำใส่จานที่จัดวางไว้ ซึ่งผลงานนี้ยังต้องพัฒนาระบบให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น"
ดร.อาบทิพย์ ธีรวงศ์กิจ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และประธานหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กล่าวว่า หลักสูตรของฟีโบ้มีการเรียนการสอนแบบ Project-Based Learning โดยบูรณาการความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ในรูปแบบโมดูล ประกอบด้วย 10 โมดูลใน 8 ภาคการศึกษา เพื่อเป็นกลไกให้นักศึกษาได้เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาวิชาต่างๆ ที่เรียนในแต่ละภาคการศึกษา โดยในการวางแผนและพัฒนาแต่ละโมดูล อาจารย์ในแต่ละรายวิชาภายใต้โมดูลเดียวกันจะได้ออกแบบวิชาเรียนร่วมกัน ทำให้เกิดความสอดคล้องและการเชื่อมโยงของเนื้อหาในแต่ละรายวิชาซึ่งอาจไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการจัดการเรียนการสอนในลักษณะโมดูล ในแต่ละโมดูลจะประกอบไปด้วย 2-3 รายวิชาในภาคการศึกษาเดียวกัน และนักศึกษาจะได้ทำโครงงานอย่างน้อย 1 โครงงานในแต่ละโมดูลเพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการนำความรู้ที่เรียนในแต่ละวิชามาบูรณาการเพื่อไปประยุกต์ใช้จริงผ่านการทำโครงงานในโมดูล
นอกจากการจัดแสดงโครงงานของนักศึกษาชั้นปี 3 ในปีนี้แล้ว ยังมีการแข่งขัน FIBO Car Battle ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 โดยนักศึกษาจะได้บูรณาการความรู้ในการใช้เครื่องจักรกลในการสร้างหุ่นยนต์เคลื่อนที่ด้วยล้อ ร่วมกับความรู้ในการออกแบบวงจรควบคุม เพื่อแข่งขันทำภารกิจตรวจจับวัตถุตามสีที่กำหนดในพื้นที่จำกัด และสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ในวิชา Inventor Studio นักศึกษาได้ประยุกต์ใช้แนวคิด Design Thinking ในการออกแบบและสร้างนิทรรศการ Interactive Exhibition: "STARS" จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานครแห่งที่ 2 (ทุ่งครุ) เพื่อให้ความรู้แก่เด็กๆ และครอบครัวในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหลายผลงานที่ได้รับความสนใจและติดต่อจากทางพิพิธภัณฑ์ฯ ให้นักศึกษาทำชิ้นงานต่อยอดเพื่อนำมาใช้จัดแสดงถาวรที่พิพิธภัณฑ์อีกด้วย