กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับกองทัพบก และจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ.2560 ในช่วงระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2560 ณ กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา โดยมีการฝึกแก้ไขปัญหาบนโต๊ะ (Table Top Exercises : TTX) การฝึกผสมแต่ละสถานี การฝึกต่อเนื่อง 48 ชั่วโมง การฝึกสาธิตตามสถานการณ์ทุกสถานี ครอบคลุมทุกภารกิจของการจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติการรองรับสาธารณภัยอย่างเป็นระบบ และมีเอกภาพตามมาตรฐานสากล
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสาธารณภัยมีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้ง มีรูปแบบซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและ ทรัพย์สินอย่างมหาศาล การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพในการลดความสูญเสียจากภัยพิบัติ รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการเตรียมความพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉิน โดยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการเชิงนโยบาย มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ร่วมกับกองทัพบก และจังหวัดนครราชสีมา จัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ.2560 ในช่วงระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2560 ณ กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 2 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีหน่วยงานเข้าร่วมการฝึกฯ จำนวน 114 หน่วย รวม 1,939 คน โดยจำลองสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง จำเป็นต้องยกระดับเป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) มีกิจกรรมการฝึกฯ ประกอบด้วย การฝึกแก้ไขปัญหาบนโต๊ะ (Table Top Exercises : TTX) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และฝึกการแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ภัยที่กำหนด การฝึกผสมแต่ละสถานี การฝึกต่อเนื่อง 48 ชั่วโมง การฝึกสาธิตตามสถานการณ์ทุกสถานี ครอบคลุมทุกภารกิจของการจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉิน แบ่งเป็น 6 สถานี ดังนี้ 1. สถานีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ สั่งการ ระดมสรรพกำลัง และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย 2. สถานีการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นการฝึกการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอาคารสูงและในที่อับอากาศ การจัดการสารเคมีรั่วไหลในอาคาร และสารเคมีที่เกิดจากท่อก๊าซรั่ว 3. สถานีการปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ดำเนินการด้านการรักษาพยาบาล การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นและนำส่งสถานพยาบาล 4. สถานีการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อวางแนวทางการบริหารจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราว ทั้งการจัดการด้านอาหาร น้ำดื่ม เครื่องนอน และการดูแลความปลอดภัยของผู้ประสบภัย 5. สถานีการปฏิบัติการทางอากาศ เพื่อเป็นการปฏิบัติการทางอากาศช่วยเหลือผู้ประสบภัยและสนับสนุนการปฏิบัติงานให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว 6. สถานีการจัดแสดงเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย (Static Display) เพื่อแสดงศักยภาพทรัพยากรของหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านความพร้อมของประเทศไทยในการจัดการสาธารณภัย ทั้งนี้ การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการในครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติการรองรับสาธารณภัยอย่างเป็นระบบและมีเอกภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้วาระ "ประเทศไทยปลอดภัย" (Safety Thailand)