กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--ไอแอมพีอาร์
ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าประเทศไทยยังคงมีอัตราการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่ในอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศนามิเบีย แม้จะมีมาตรการทางกฎหมายออกมาบังคับใช้มากขึ้น แต่การละเมิดกฎจราจรก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ
การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางจราจร นับเป็นความสูญเสียที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งผู้บาดเจ็บ ผู้พิการ และความโศกเศร้าของครอบครัวของผู้สูญเสีย หากคิดมูลค่าในทางเศรษฐกิจแล้วแต่ละปีมีความสูญเสียที่เกิดขึ้นมหาศาล การสร้างวินัยปฏิบัติตามกฎจราจรจึงเป็นหนทางเบื้องต้นในการลดอัตราอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
เพราะเห็นลูกศิษย์ต้องเจ็บป่วย ขาดลาจากการเรียนโดยไม่ได้ตั้งใจด้วยอุบัติเหตุ ที่ร้ายแรงก็ถึงแก่ชีวิตจากเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะจากรถจักยานยนต์ที่ใช้เป็นพาหนะสำหรับเดินทางไปหรือกลับจากเรียนทำให้ สิรภัทร สัจจาพันธ์ หัวหน้าศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล (กศน.คลองขุด) วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และหาทางลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับลูกศิษย์ ขณะเดียวกันก็ได้ดำเนินโครงการ "ศึกษาผลกระทบการไม่เคารพกฎจราจรด้านความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของนักศึกษา กศน. คลองขุด" ควบคู่ไปด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
"การมาเรียนของนักศึกษาร้อยละ 99 จะมามอเตอร์ไซค์ ในวันเรียนก็จะมีนักศึกษาหรือผู้ปกครองโทรมาลาไม่สามารถมาได้ รถล้ม อีกวันก็อาจมีผู้ปกครองโทรบอกว่าเกิดเกิดอุบัติเหตุ คือจะได้ยินอยู่บ่อยครั้ง แล้ววัยรุ่นไม่ได้ใส่หมวกกันน็อค ก็เลยทดลองทำโครงการกับนักศึกษาของเราก่อน เบื้องต้นมีกลุ่มเป้าหมาย 150 คน เฉพาะ กศน.คลองขุด แต่ก็มีตำบลใกล้เคียงเข้ามาร่วมด้วยเวลาเรามีกิจกรรม มีอบรม" หัวหน้าศูนย์ กศน.คลองขุด เล่าถึงที่มา
อาจารย์สิรภัทร ขยายความอีกว่า จากนั้นก็วางแผนสร้างแกนนำจากนักศึกษาที่อาสาและรับสมัครด้วย ให้ลงพื้นที่สำรวจ สังเกตพฤติกรรมการขับขี่ในจุดเสี่ยงที่มีการจราจรคับคั่ง ทั้งหน้าโรงเรียน หน้าห้างสรรพสินค้า แยกที่มีไฟสัญญาณจราจร จากผลการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่ ผู้ขับขี่ผิดกฎจราจร เช่น ขับขี่สวนทาง ไม่สวมหมวกกันน็อค ขับปาดหน้า ในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้ถนนมากทั้งช่วงเช้า ช่วงบ่าย และช่วงค่ำ
เมื่อได้ข้อมูลก็นำมาวิเคราะห์ดำเนินการตามแผน จัดกิจกรรมฝึกอบรมด้านวินัยจราจรให้แก่กลุ่มเป้าหมายรวมทั้งบุคคลกรของ กศน.คลองขุด โดยได้ร่วมกับหน่ายงานต่างๆ ทั้งเจ้าหน้าที่จราจร สภ.อ.เมืองสตูล เจ้าหน้าที่ขนส่งจังหวัด หน่วยงานด้านประกันอุบัติเหตุ หน่วยกู้ชีพมาให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลหากเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนั้นยังจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการขับขี่บนท้องถนนในตำบลคลองขุดและพื้นที่ใกล้เคียง
หลังจากดำเนินโครงการพบว่าจากเดิมที่นักศึกษา กศน.คลองขุดต้องประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่พาหนะบนท้องถนนเดือนละ 7-10 ราย การเกิดอุบัติเหตุแทบไม่มีเลยตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้นักศึกษาก็ยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ไปในทางที่ดี สวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง ไม่ขับขี่ย้อนเส้นทาง ปฏิบัติตามกฎจราจร โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะคอยตักเตือนและตักเตือนกันเอง และยังมีรางวัลเป็นเครื่องจูงใจอีกด้วย
"ตั้งแต่จัดกิจกรรมมาการเกิดอุบัติเหตุแทบไม่เคยเกิดขึ้นเลย กับเมื่อก่อนนี้เดือนหนึ่งเกิดอุบัติเหตุกับนักศึกษาของเราเยอะมาก เดี๋ยวก็มีโทรมาลาอยู่ตลอด ตอนนี้ดีขึ้น นักศึกษาคนไหนที่ยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะไม่ได้คะแนนด้วย เราบอกไปถึงผู้ปกครองเลย ถ้าเขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะได้คะแนน เราให้เด็กไปหาข้อมูลบ้านผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุด้วยเพื่อให้เด็กๆ ตระหนักถึงอันตรายจริงๆ เด็กจะให้ข้อมูลว่าทั้งเสียเวลา เสียเงิน และจิตใจเสีย บางคนต้องสูญเสียลูก สมาชิกครอบครัวต้องพิการ จากพฤติกรรมการขับขี่คึกคะนองทำให้คนอื่นสูญเสีย เด็กๆของเราคนขับรถอย่างน้อยต้องมีหมวกกันน็อค และไม่ให้ซ้อนสามเด็ดขาด แต่ข้างนอกเราคุมไม่ได้" อาจารย์สิรภัทร กล่าวย้ำและยืนยันว่าในภายหน้าจะขยายผลการดำเนินงานไปยังศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนให้ครบ 24 แห่งทั้งอำเภอเมือง เพราะทุกคนต้องใช้ถนนร่วมกัน
ขณะที่ นายวีรพล พยายาม นักเรียนชั้นมัธยมปลาย กศน. หนึ่งในแกนนำขับขี่ปลอดภัย เล่าว่าขับขี่จักรยานยนต์มาเรียนจากบ้าน 5 กิโลเมตร. ยอมรับว่าเคยเกิดอุบัติเหตุจากการถูกจักยานยนต์คันอื่นขับสวนทางมาชนจนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยและรถได้รับความเสียหาย และขณะนั้นไม่ได้สวมหมวกกันน็อคเพราะรีบร้อนออกจากบ้าน แต่เมื่อได้มาเป็นแกนนำทำให้ตระหนักถึงความปลอดภัย คอยตักเตือนเพื่อนให้ปฏิบัติตามกฎจราจร ขับขี่อย่างปลอดภัย หากเกิดอุบัติเหตุผู้สูญเสียได้รับผลกระทบก็คือตัวเอง พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเสียเงิน หรือหากไม่เสียชีวิตแต่เจ็บป่วยพิการ ก็จะทำให้เสียโอกาสใน การเรียน การทำงาน หรือทำกิจกรรมเหมือนคนปกติทั่วไป
"พอมาเข้าโครงการได้เป็นแกนนำด้วยเราก็จะตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยเสมอ ระมัดระวังเมื่อต้องขับขี่ทุกครั้ง ก็ได้ไปรณรงค์ให้ขับขี่ปลอดภัยตามหมู่บ้าน แจกใบปลิว เรื่องวินัยจราจร การสวมหมวกกันน็อค การไม่ขับขี่ย้อนศร เพราะที่นี่มีการขับขี่ย้อนศรมาก วัยรุ่นก็ไม่ค่อยใส่หมวก แต่ก่อนนักศึกษา กศน.ที่นี่เองก็ไม่ใส่หมวกเช่นกัน นักศึกษาเองอยากขับรถอย่างไรก็ขับก็ไม่สนใจเท่าไร เดี๋ยวนี้มีการบังคับให้ใช้เส้นทางเดียวในการออก เด็กก็ทำมากขึ้นมีส่วนน้อยที่ไม่ปฏิบัติตาม ก็ต้องแนะนำเพื่อนมากขึ้น ว่าเวลาเกิดอุบัติเหตุคนที่เดือดร้อนก็คือพ่อแม่ผู้ปกครอง" แกนนำขับขี่ปลอดภัย เล่าถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรม
จากการดำเนินงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมาทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุในหมู่นักศึกษาลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้ใช้รถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ ปฏิบัติตามกฎจราจร มูลค่าความเสียหายแทบไม่เกิดขึ้น จากความสำเร็จในจุดเริ่มต้นเล็กๆ หากได้รับการขยายผลไปสู่วงกว้างมากขึ้น ย่อมเป็นผลดีอาจช่วยให้ประเทศไทยไม่ต้องติดอันดับโลกของการเกิดอุบัติเหตุอีกต่อไป.