กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "2 พรรคการเมืองใหญ่กับการจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21 – 23 มิถุนายน 2560 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย รวมถึงการจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ 2 พรรคใหญ่ระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยจะจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งสมัยถัดไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.84 ระบุว่า ไม่มีความเป็นไปได้เลย เพราะต่างฝ่ายต่างมีแนวคิด จุดยืน นโยบายที่แตกต่างกันอยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็มีความขัดแย้งกันอยู่ตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานาน อีกทั้งการร่วมมือกันอาจทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ของพรรค รวมถึงฐานเสียงของประชาชนในแต่ละพรรค อาจเกิดกระแสต่อต้าน จึงยากที่จะหันหน้าเข้าหากัน รองลงมา ร้อยละ 29.36 ระบุว่า มีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง เพราะ ทั้ง 2 พรรคการเมืองใหญ่นั้นต่างเคยได้เข้ามาเป็นรัฐบาลและบริหารประเทศมาก่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แต่ละพรรคการเมืองต่างมีจุดยืนหรือแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่อาจมีบางอย่างที่มีความเห็น ในทิศทางเดียวกัน และอาจมีลูกพรรคที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หากจะจับมือร่วมกัน ขณะที่ ร้อยละ 6.32 ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูง เพราะ ทุกฝ่ายน่าจะมองเห็นผลดีมากกว่าผลเสีย ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ และทั้ง 2 พรรคเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ทั้งคู่ อีกทั้งประเทศ ถูกแช่แข็งทางการเมืองมาสักระยะหนึ่งแล้ว นักการเมืองน่าจะอ่อนข้อลงและเห็นแก่ประเทศชาติมากขึ้น และที่ผ่านมา คสช. ได้วางแนวทาง ในการปรองดองและการปฏิรูปประเทศไว้แล้ว และ ร้อยละ 10.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความต้องการของประชาชนที่จะเห็น 2 พรรคใหญ่ระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งสมัยถัดไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.60 ระบุว่า ต้องการ เพราะ ต้องการเห็นความสามัคคี ความปรองดอง ประเทศชาติพัฒนาและเดินหน้าต่อไป การร่วมมือกันทำให้เกิดความคิดที่หลากหลาย ได้แนวคิดใหม่ ๆ และเพิ่มความเสถียรภาพของพรรคการเมืองให้มากขึ้น ไม่ต้องการเห็นนักการเมืองทะเลาะหรือขัดแย้งกันจนเกิดความวุ่นวายเหมือนที่ผ่านมา รองลงมา ร้อยละ 26.88 ระบุว่า ไม่ต้องการ เพราะ อาจมีปัญหาความขัดแย้งกัน ทั้งในเรื่องของความคิดทางการเมือง หรือผลประโยชน์ของพรรคการเมืองเอง ต้องมีอีกฝ่ายที่คอยคานอำนาจกัน ถึงเกิดความร่วมมือกันสุดท้ายก็น่าจะขัดแย้งกันเหมือนเดิม ควรให้เป็นไปตามแบบเดิม คือ มีพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน และร้อยละ 9.52 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีหากจะมีการจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคใหม่ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.52 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ต้องการเห็นทางออกใหม่ ๆ ที่ช่วยลดความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมือง และหากเข้ามาอย่างถูกต้องประชาชนก็ไม่ได้ติดขัดประการใด หากมีพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบันก็จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาของประเทศ และสานต่อนโยบายต่าง ๆ ที่ได้ทำไว้แล้ว และเป็นการสนับสนุนให้รัฐบาลชุดปัจจุบันได้บริหารประเทศต่อไป รองลงมา ร้อยละ 31.28 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันการบริหารประเทศ มีหลายอย่างที่ยังแก้ไขได้ไม่ดี โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจของประเทศ ปากท้องของประชาชน หากยังได้รัฐบาลชุดเดิม ประเทศชาติอาจจะไม่ก้าวหน้า ประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ในบางเรื่อง ทำได้ไม่เต็มที่ ควรจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และเลือกนักการเมืองที่เก่งและมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศเข้ามาแทน และ ร้อยละ15.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 7.68 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ตัวอย่างร้อยละ 25.20 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.32 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.84 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.96 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 56.00 เป็นเพศชาย และร้อยละ 44.00 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.44 มีอายุ 18 – 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 18.08 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.32 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.68 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 18.88 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.60 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 93.44 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.80 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.80 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 2.96 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 21.76 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 68.48 สมรสแล้ว ร้อยละ 6.40 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.36 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 28.72 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 26.48 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.64 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.24 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.00 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.92 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 11.68 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.76 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.56 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.88 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 17.20 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 14.40 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.28 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.16 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวง หากำไร และร้อยละ 4.08 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 10.80 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 24.24 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 22.64 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 7.68 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 13.20 ไม่ระบุรายได้