กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--กระทรวงแรงงานฯ
นายอิระวัชร์ จันทรประเสริฐ ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม เป็นการขยายฐานผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นนั้น แท้ที่จริงที่รัฐบาลเห็นชอบให้มีการขยายความคุ้มครอง ดังกล่าวก็เพื่อให้ลูกจ้างทุกคนมีสิทธิได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียม ซึ่งลูกจ้างผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสังคมถึง 6 กรณี โดยเฉพาะกรณีเจ็บป่วย ผู้ประกันตนสามารเข้ารับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือหากเป็นการประสบอุบัติเหต ฉุกเฉินก็สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาลใดก็ได้ภายใน 72 ชั่วโมงแรก
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อผู้ประกันตนคลอดบุตรยังมีสิทธิได้รับค่าคลองบุตรเหมาจ่าย 4,000 บาท และเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นเวลา 90 วัน กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนตลอดชีวิต และได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท ตลอดชีวิตเช่นกัน นอกจากนี้หากผู้ประกันตนเสียชีวิต จะได้รับค่าทำศพ 30,000 บาท และทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตายตามระยะเวลาการส่งเงินสมทบอีกด้วยส่วนผู้ประกันตนที่มีบุตรอายุไม่เกิน 6 ปี ก็มีสิทธิเบิกเงินสงเคราะห์บุตรได้เดือนละ 150 บาทต่อบุตร 1 คน เบิกได้คราวละไม่เกิน 2 คน และเมื่อผู้ประกันตนเกษียณอายุก็จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้จากสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ข้างต้น จะเห็นได้ว่าระบบประกันสังคมไม่ได้ให้ความคุ้มครองแต่เฉพาะกรณีเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมยังจะได้รับสิทธิประโยชน์หลากหลากด้านอีกด้วย--จบ--
-สส-