กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--เฟลชแมน ฮิลลาร์ด
มองเผินๆ แล้วตึกสีเหลืองสดใส ซึ่งคอยต้อนรับผู้คนที่ผ่านไปมาบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านเสลา อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ อาจเป็นเพียงห้องสมุดธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่สำหรับเหล่านักเรียนแล้ว มันคือสถานที่ที่พวกเขาแวะมาอ่านนิทานเล่มโปรด หามุมใหม่ๆ เล่นซ่อนแอบกับเพื่อน และพักหลบฝนขณะรอคุณพ่อคุณแม่มารับ สำหรับเด็กๆ พื้นที่เพียงไม่กี่ตารางเมตรนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งจินตนาการ ความรู้ และมิตรภาพมากมายที่พร้อมจะผลิดอกออกผล
ห้องสมุดโรงเรียนบ้านเสลาถือเป็นห้องสมุดแห่งแรกภายใต้โครงการ "ห้องสมุด กรุงศรี ออโต้" ซึ่งริเริ่มขึ้นในปี2553 เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล และเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เหล่าอาสาสมัครได้กลับมาที่โรงเรียนบ้านเสลาอีกครั้ง เพื่อปรับปรุงห้องสมุด ตลอดจนสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยขึ้น
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า"ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ ได้สร้างห้องสมุดมาแล้ว 13 แห่งทั่วประเทศ พวกเรารู้สึกดีใจที่ได้เห็นห้องสมุดเหล่านี้เป็นทั้งคลังความรู้ สถานที่จัดกิจกรรมและต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ห้องสมุดก็ทรุดโทรมลง และความรู้ก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา อาสาสมัครกรุงศรี ออโต้ รวมถึงเครือข่ายดีลเลอร์รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ในแต่ละภูมิภาค จึงได้กลับมาพัฒนาห้องสมุดของโครงการฯ ภายใต้แนวคิด 'สร้าง-ซ่อม-เสริม' และได้ตอบแทนท้องถิ่นของตนอีกครั้ง โดยเริ่มจากโรงเรียนบ้านเสลาเป็นที่แรก"
นางสาวสิริพร ศุภรัชตการ ประธานคณะกรรมการอาสาสมัคร กรุงศรี ออโต้ ประจำปี 2560 กล่าวเสริมว่า "กรุงศรี ออโต้ ให้ความสำคัญกับการให้พนักงานในทุกแผนกและทุกระดับได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ในส่วนการต่อยอดโครงการห้องสมุดกรุงศรี ออโต้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงและยั่งยืน ซึ่งผลตอบรับจากกิจกรรมที่โรงเรียนบ้านเสลาก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก โดยมีพนักงานจิตอาสากว่า 70 คนจาก 4 จังหวัดในภาคอีสานตอนล่างมาร่วมกันสร้าง ซ่อม เสริม ห้องสมุดแห่งนี้"
ผู้ที่อยู่กับห้องสมุดแห่งนี้มาตั้งแต่วันแรกๆ และเห็นการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไปคงหนีไม่พ้น ว่าที่พันตรี มนตรี แก้วมะเริง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเสลา ผอ.เล่าให้ฟังว่า "ตอนที่ห้องสมุดสร้างขึ้นใหม่ๆ คุณครูเป็นฝ่ายกระตุ้นให้นักเรียนเข้ามาศึกษาค้นคว้า แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นนักเรียนมายืมหนังสือไปอ่านเองที่บ้านมากขึ้น คุณครูเองก็ใช้พื้นที่และหนังสือในการจัดกิจกรรมนอกชั้นเรียน แม้แต่ผู้ปกครองก็ใช้เป็นที่นั่งพักและพูดคุยกันระหว่างรอรับบุตรหลาน นอกจากนี้ อัตราการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนยังเพิ่มขึ้นจาก 70% เมื่อ 7 ปีที่แล้วก่อนที่จะมีห้องสมุด เป็น 100% ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามีห้องสมุดที่น่านั่งน่าใช้ และจุดประกายให้เด็กๆ รักการอ่าน ทางโรงเรียนต้องขอขอบคุณกรุงศรี ออโต้ และอาสาสมัครทุกคนที่กลับมาเยี่ยมเยียน และสนับสนุนสื่อการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับโรงเรียนของเรา"
น้องเอิญ ชั้นป.2 รู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษกับการกลับมาของพี่ๆ อาสาสมัคร เพราะนั่นหมายความว่าจะมีหนังสือนิทานใหม่ๆ มากมายมาเติมเต็มห้องสมุด "หนูชอบเข้ามานั่งอ่านนิทานตอนพักกลางวัน" น้องเอิญเอ่ยขึ้นพร้อมหยิบหนังสือหลายเล่มออกมาจากชั้น เช่นสลัดผักเพื่อนรัก และปฏิบัติการดาวเนยแข็ง ก่อนจะชี้ไปที่นิทานชื่อ ดอกไม้ใจดีกับผีเสื้อขี้อ้อน "เล่มนี้หนูชอบที่สุด แต่เล่มใหม่ๆ ปกสวยมาก ไม่แน่หนูอาจจะเปลี่ยนใจ" น้องเอิญพูดเล่นอย่างอารมณ์ดี
แต่สำหรับน้องคิว ชั้นป.3 ห้องสมุดมีความหมายมากกว่านั้น เพราะนี่คือสถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยมุมสำหรับเล่น "ซุก" (ซ่อนแอบในภาษาท้องถิ่น) มากมาย "มีอยู่ที่หนึ่งที่ยังไม่มีใครหาเจอเลย" น้องคิวพูดอย่างภาคภูมิใจ และยืนกรานที่จะไม่บอกว่ามุมที่ว่านั้นคือตรงไหน เพราะกลัวความลับจะถูกเปิดเผย เมื่อถามว่าเขาตื่นเต้นกับหนังสือหรืออุปกรณ์การเรียนใหม่ที่พี่ๆ อาสาสมัครนำมาฝาก น้องคิวชี้ไปที่คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่เอี่ยมอย่างไม่ลังเล
สำหรับอาสาสมัครแล้ว การได้กลับมาที่โรงเรียนบ้านเสลาอีกครั้ง และเห็นว่าสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเมื่อ 7 ปีก่อนสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนมากมายถือเป็นความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ความสำเร็จจากหน้าที่การงาน ทั้งตัวห้องสมุดเอง หรือต้นไม้ที่ได้ช่วยกันปลูกก็ออกดอกออกผลงดงาม กล้วยเบรกแตกที่น้องๆ มอบให้เป็นของที่ระลึกก็มาจากต้นกล้วยเมื่อ 7 ปีก่อนนี้เอง
เรื่องราวของโรงเรียนบ้านเสลาและอาสาสมัครกรุงศรี ออโต้ คงเปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่ค่อยๆ เติบโตเป็นต้นกล้าที่แข็งแรง แต่เมื่อเวลาผ่านไปต้นไม้ได้แผ่กิ่งก้านสาขากว้างใหญ่กว่าที่เราวาดหวังไว้ อีกทั้งยังมอบอากาศบริสุทธิ์ อาหารอุดมสมบูรณ์ และร่มเงาให้สัตว์น้อยใหญ่ได้พักพิง เฉกเช่นห้องสมุด ที่วันนี้ได้กลายเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ ได้มาเรียนรู้ เล่นกับเพื่อนๆ พักผ่อนหย่อนใจและเติบโตไปพร้อมกัน