กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
พื้นที่โดยรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีเกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำประมงอาศัยอยู่จำนวนมาก และยึดอาชีพการเลี้ยงกุ้งขาวมาตั้งแต่ปี 2530 จนรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน จำกัด ขึ้น เพื่อดูแลส่งเสริมอาชีพการทำประมงให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ 212 ครอบครัว บนพื้นที่ 1,084 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมา เกษตรกรยังมีขาดองค์ความรู้ในการเลี้ยงกุ้งที่ได้มาตรฐาน มีการปล่อยน้ำและเลนลงในลำคลองทำให้สภาวะแวดล้อมเสื่อมลง น้ำด้อยคุณภาพ จนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสต่างๆ และในปี 2558 เกษตรกรประสบปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก สมาชิกสหกรณ์ประสบภาวะขาดทุนจากการเลี้ยงกุ้ง บางรายต้องหยุดเลี้ยง พักบ่อ และปล่อยบ่อร้าง ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้กับสหกรณ์ได้ตามกำหนด ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ไม่สามารถปิดบัญชีได้ จนสหกรณ์เกือบจะต้องยุติการดำเนินงานลง
กระทั่งปี 2559 มีโครงการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลเข้ามาบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนและผลกระทบที่เกษตรกรได้รับจากโรคตายด่วนในกุ้ง โดยประสานความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมประมง องค์การสะพานปลา บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และหอการค้าไทย
ระยะแรกของการดำเนินโครงการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ส่งเจ้าหน้าที่มาถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้วยเทคนิคการเลี้ยงกุ้งตามแนวทาง " 3 สะอาด" มีหลักที่สำคัญได้แก่ น้ำสะอาด ลูกกุ้งสะอาดปลอดโรค และพื้นบ่อสะอาด ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้มีความสำคัญในการช่วยทำให้ช่วยป้องกันและลดความเสียหายอันเกิดขึ้นจากปัญหาของ โรคระบาดต่างๆ ในกุ้งได้
น้ำสะอาด หมายถึงน้ำที่นำมาใช้เลี้ยงกุ้งต้องมีปริมาณสารอินทรีย์ที่ละลายในน้ำระดับต่ำ ไม่มีตะกอน และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ไม่มีเชื้อโรคต่างๆ และมีปริมาณน้ำสะอาดที่เพียงพอตลอดระยะเวลาการเลี้ยง ส่วนลูกกุ้งสะอาด หมายถึง ต้องเป็นลูกกุ้งที่ปลอดจากเชื้อต่างๆ เริ่มจากพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของการเลี้ยงกุ้ง เกษตรกรควรพิจารณาเลือกใช้ลูกกุ้งที่มาจากโรงเพาะฟักที่ได้มาตรฐาน พ่อแม่พันธุ์ต้องปลอดเชื้อ กระบวนการผลิตในโรงเพาะฟักนั้นจะต้องให้ความสำคัญต่อระบบ Bio security เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อในทุกๆ ขั้นตอนของการผลิต และพื้นบ่อสะอาด เกษตรกรต้องทำความสะอาดพื้นบ่อเพื่อกำจัดแหล่งอาศัยและอาหารของเชื้อโรค ที่สำคัญจะต้องเก็บตัวอย่างดินและน้ำ เพื่อตรวจเชื้อก่อนที่จะปล่อยกุ้งลงเลี้ยง ในระหว่างการเลี้ยงต้องมีการกำจัดตะกอนซึ่งเกิดจากขี้กุ้ง และเศษอาหารที่เหลือจากการกินของกุ้ง โดยดูดออกจากหลุมรวมตะกอนไปเก็บไว้ในบ่อเก็บตะกอน ห้ามปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และต้องระวังอย่าให้ตะกอนเปลี่ยนเป็นสีดำ
ปัจจุบัน สมาชิกสหกรณ์ 24 ราย สมัครใจเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการรุ่นที่ 1 มีสมาชิกนำร่องจำนวน 2 ราย ได้แก่ นายดำรง เสนาะสรรพ์ประธานกรรมการสหกรณ์ฯ และนายสิงหา สวัสดิภูมิ สมาชิกสหกรณ์ฯ ศึกษาเรียนรู้วิธีการเลี้ยงกุ้งตามเทคนิค 3 สะอาด ใช้เวลาปรับสภาพบ่อเลี้ยงกุ้ง 3 เดือน จนกระทั่งมั่นใจว่ามีความสะอาดปลอดเชื้อโรค จึงนำลูกกุ้งอนุบาลลงในบ่อ ๆ ละ 500,000 ตัว
ผลสำเร็จจากการเลี้ยงกุ้งด้วยเทคนิค 3 สะอาด ส่งผลทำให้ลดต้นทุนได้กว่า 24 % ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 1,000 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 3,700-5,100 กิโลกรัมต่อไร่ อัตราการเจริญเติบโตของกุ้งอยู่ในเกณฑ์ดีและมีอัตราการรอดเกินกว่า 90% ทำให้เกษตรกรมีรายได้ สามารถคืนทุนได้ตั้งแต่การเลี้ยงในรอบแรก และยังมีเงินที่เหลือส่วนหนึ่งไปชำระหนี้คืนให้กับสหกรณ์ ทำให้สมาชิกสหกรณ์มองเห็นโอกาสที่จะบรรเทาความเสียหาย มีรายได้มาปลดหนี้ที่เกิดจากการระบาดของโรคกุ้งตายด่วน ตั้งแต่ปี 2558 ได้สำเร็จ โดยทุกคนหันกลับมาร่วมแรงร่วมใจกันทำแปลงใหญ่ประมงประชารัฐอย่างจริงจัง เพื่อพลิกฟื้นอาชีพการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรในพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบนให้กลับคืนมาอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการอาวุโสหอการค้าไทย และหัวหน้าคณะทำงานการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ พร้อมด้วยดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง และผู้แทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เดินทางลงพื้นที่ไปติดตามความก้าวหน้าในการแปลงใหญ่ประมงประชารัฐที่สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน จำกัด พร้อมทั้งเยี่ยมชมบ่อเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรนำร่อง ทั้ง 2 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเลี้ยงกุ้งตามแนวทางแปลงใหญ่ประชารัฐในรอบที่ 3 แล้ว
นายอิสระ กล่าวว่า สหกรณ์ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่และทำหน้าที่เป็นความหวังในการส่งเสริมและช่วยพัฒนาเกษตรกรไทย ตนในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกับภาครัฐ ในนามของคณะทำงาน การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่เล็งเห็นว่า เกษตรกรมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ ในพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบนถือว่ามีศักยภาพในเรื่องการทำประมง การเลี้ยงกุ้ง ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงเข้ามาสนับสนุนให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ทำให้ผลผลิตขายได้ราคาดี แต่ต้องแข่งขันในเรื่องต้นทุนที่ต่ำลง จึงจะสามารถส่งสินค้าไปแข่งในตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ และมองเห็นว่าความเข้มแข็งของการรวมกลุ่มนั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาอาชีพเกษตรกร คำว่าเกษตรแปลงใหญ่คือการรวมกลุ่มกัน เพื่อให้เกิดการพึ่งพาและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ขณะเดียวกันเกษตรกรต้อง นำวิชาการเทคโนโลยี รวมถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ มาพัฒนาอาชีพ และจะต้องปฏิบัติอย่างจริงจังและมีใจรักที่จะพัฒนาตนเอง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้อาชีพเกษตรกรนี้มีรายได้ที่ยั่งยืน
ด้านดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า สหกรณ์ได้จัดหาช่องทางการตลาดมารองรับผลผลิตกุ้งจากสมาชิก โดยประสานกับพ่อค้า ห้องเย็น และแหล่งรับซื้อต่างๆ เพื่อต่อรองราคา สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ราคาเฉลี่ยสูงกว่าราคาตลาด ประมาณร้อยละ 5 – 10 ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น การดำเนินงานในระยะต่อไป สหกรณ์จะมุ่งเน้น การพัฒนาคุณภาพผลผลิต ส่งเสริมเกษตรกรสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีระบบมาตรฐาน GAP ทั้งหมด และถ่ายทอดความรู้เรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม การจัดทำบัญชีครัวเรือน บัญชีต้นทุน และกำหนดระเบียบสหกรณ์ เพื่อจัดตั้งกองทุนจัดการความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรและรักษาสิ่งแวดล้อม ไว้ช่วยเหลือสมาชิกในยามที่ราคากุ้งตกต่ำ หรือจำเป็นต้องใช้เงินทุนในการปรับปรุงบ่อ การบำรุงรักษาสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เลี้ยงกุ้งที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ กรมฯยังได้จัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์เพื่อรองรับความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้สหกรณ์ได้กู้ยืมไปปล่อยกู้แก่สมาชิกที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนปรับปรุงบ่อเลี้ยงกุ้งในระยะเริ่มต้นและจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็น โดยได้วางแผนดำเนินการให้ครอบคลุมเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด ในระยะ 3 ปี ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์มีส่วนร่วมในคณะทำงานเกษตรสมัยใหม่ และให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งการดำเนินงานของสหกรณ์ต่าง ๆ โดยยกให้สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน จำกัด เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการดำเนินงานตามแนวทางแปลงใหญ่ประมงประชารัฐ ฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความหวังที่จะพัฒนาอาชีพ ให้มั่นคง และสามารถปลดหนี้สินได้ โดยกรมฯจะนำแนวทางการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐด้านการเลี้ยงกุ้งนี้ ไปขยายผลความสำเร็จให้กับสหกรณ์ในพื้นที่ภาคใต้ที่จังหวัดในต้นเดือนกรกฎาคมด้วย