กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--ไอแอมพีอาร์
ชาวประมง บ้านตะโละใส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ประสบปัญหาปริมาณสัตว์น้ำในท้องทะเลมีจำนวนลดลง จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และผลกระทบจากการทำประมงที่เห็นแก่ได้โดยเฉพาะเรือประมงที่มาจากถิ่นอื่น ส่งผลให้ต้องออกเรือหาปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ห่างไกลจากฝั่งมากขึ้น จึงได้รวมตัวกัน จัดทำโครงการ "เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำปากอ่าวบารา" โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และจัดตั้ง "ธนาคารปูม้า บ้านตะโละใส" เพื่อสร้างพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของชาวประมงในชุมชนเป็นเบื้องแรก
นายอัสรีย์ หมีนหวัง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านปากน้ำ เปิดเผยว่า ปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลปากอ่าวบาราได้รับผลกระทบจากการทำประมงรูปแบบต่างๆ ทั้งอวนตาถี่ เรือประมงขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือประมงแบบทำลายล้างกวาดเอาสัตว์น้ำขนาดเล็กขึ้นมาด้วย และจากการที่สัตว์น้ำถูกรบกวนตลอดเวลาแทบไม่มีเวลาวางไข่ จึงหารือกันในหมู่ชาวประมงว่าน่าจะหาทางช่วยให้สัตว์น้ำได้มีโอกาสขยายพันธุ์ เพิ่มจำนวนสัตว์น้ำที่หายไป โดยเริ่มจากการรับบริจาคแม่พันธุ์ปูม้าที่มีไข่จากสมาชิกชาวประมงรายละ 2 ตัว เมื่อนำไข่มาเพาะเลี้ยงปล่อยลูกปูสู่ท้องทะเลแล้ว ก็จะนำแม่พันธุ์คืนเจ้าของ หรือชาวประมงรายใดจะให้ธนาคารนำไปขายเพื่อหารายได้มาดูแลธนาคารปูก็ยินดี
"การจัดตั้งธนาคารปูม้าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในกิจกรรมอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ที่มากไปกว่านั้นคือการผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน เจรจาทำข้อตกลงกับนายกสมาคมเรือพาณิชย์ไม่ให้เข้ามาในแนวอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ตั้งแต่เกาะเขาใหญ่ เกาะตะรุเตา เกาะสิงห์ เกาะโกยใหญ่ เกาะบรัคมานา ไปสุดเขตใกล้รัฐปะลิส มาเลเซีย ภายใต้การดูและของประมงจังหวัดสตูล และแสวงความร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน"
นอกจากจะดำเนินงานจัดตั้งธนาคารปูม้าแล้ว ยังดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างจิตสำนึกและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งการทำ "บ้านปลา" หรือ "ซั้งกอ" ร่วมกับหน่วยงานอนุรักษ์ใต้น้ำ สมาคมรักษ์ทะเลไทย ช่วยกันดูแลเพื่อให้สัตว์น้ำเป็นที่พักอาศัย โดยชักชวนเยาวชนในพื้นที่ให้เข้ามาร่วมกิจกรรมเรียนรู้การทำซั้งกออีกด้วย ขณะเดียวกันก็ยังจัดกิจกรรมปล่อยปูในวันสำคัญ เช่น วันประมงแห่งชาติ วันอนุรักษ์ทะเล วันสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรของท้องถิ่นอีกด้วย.