กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดเดิมของบริษัทที่ระดับ “AA-” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ของบริษัทในวงเงินรวมไม่เกิน 15,000 ล้านบาทที่ระดับ “AA-” อันดับเครดิตสะท้อนการมีผลประกอบการที่มีกำไรในระดับที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนฐานะผู้นำในธุรกิจการบินภายในประเทศ และสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจการบินระหว่างประเทศในเส้นทางที่บินเข้าและออกจากกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังรวมถึงการได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิก Star Alliance ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรสายการบินที่ใหญ่ที่สุด และการที่บริษัทเป็นสายการบินแห่งชาติที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสายการบินอันเนื่องมาจากภาวะอุปทานส่วนเกิน ความเสี่ยงจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน รวมถึงภาระหนี้สินของบริษัทที่ค่อนข้างสูง แม้แผนการปรับปรุงฝูงบินจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัท ทว่าการลงทุนจำนวนมากเพื่อการดังกล่าวจะต้องใช้แหล่งเงินทุนบางส่วนจากการกู้ยืม
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายที่บริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานในระดับที่ดีไว้ได้อย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากความต้องการบริการขนส่งทางอากาศที่ยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นและการสนับสนุนจากรัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ แม้จะประสบกับภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงและค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น แต่บริษัทก็สามารถลดภาระดังกล่าวได้บางส่วนจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ใช้บริการ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐของไทยถือหุ้นโดยตรงในบริษัทการบินไทย 54% โดยลดลงจาก 79% ในปี 2546 จากการที่บริษัทขายหุ้นแก่ประชาชนจำนวน 285 ล้านหุ้นในปี 2546 บริษัทมีกองทุนวายุภักษ์ซึ่งจัดตั้งโดยกระทรวงการคลังเพื่อลงทุนในรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ถือหุ้นด้วย แม้ว่ารัฐบาลได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทลง แต่ก็ยังคงมีนโยบายถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 51% ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจและสายการบินแห่งชาติ บริษัทได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงาน เช่น การให้เงินกู้ยืมเฉพาะกาล และการช่วยหาแหล่งเงินทุน
บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งทั้งในเส้นทางการบินระหว่างประเทศและในประเทศด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 47% ของจำนวนเที่ยวบินทั้งหมดที่ใช้บริการที่ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพในปี 2547 บริษัทครองส่วนแบ่งทางการตลาดของเที่ยวบินภายในประเทศ ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพประมาณ 64% ในปี 2547 การแข่งขันในธุรกิจการบินบางด้านทวีความเข้มข้นขึ้นหลังจากที่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินนโยบายเปิดเสรีธุรกิจการบินตั้งแต่ปี 2541 โดยอนุญาตให้สายการบินของไทยทุกแห่งสามารถให้บริการในทุกเส้นทางการบินที่ประเทศไทยได้รับสิทธิ ในส่วนของตลาดระหว่างประเทศทั้งขาเข้าและขาออกจากกรุงเทพฯ นั้น ในปี 2547 บริษัทมีส่วนแบ่งประมาณ 41% ลดลงเล็กน้อยจาก 43% ในปี 2546 แต่สูงกว่าสายการบินอันดับรองคือ “สิงคโปร์แอร์ไลน์” ซึ่งมีส่วนแบ่งเพียง 5% ในปี 2547 ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะยังคงครองส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ได้เพราะบริษัทยังคงสิทธิในการบินและการลงจอดในท่าอากาศยานในประเทศต่างๆ อยู่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน บริษัทมีแผนในการขยายฝูงบินโดยการเพิ่มจำนวนเครื่องบินจาก 84 ลำเป็น 105 ลำ ภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า การขายหุ้นกู้ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการลงทุนของบริษัท โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นกู้ไปใช้เพื่อชำระเงินล่วงหน้าค่าเครื่องบิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับปี 2548
บริษัทมีผลประกอบการที่ดีแม้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งการแพร่กระจายของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงและไข้หวัดนก ในปีงบประมาณ 2547 และช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2548 (ตุลาคม 2548-ธันวาคม 2548) รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจัดจำหน่าย (ที่มีการปรับปรุงเรื่องการเช่าดำเนินงานแล้ว) ต่อรายได้รวมคงอยู่ที่ระดับประมาณ 25% เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่สูงขึ้น ในด้านสภาพคล่องทางการเงินนั้นบริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ดีขึ้นเนื่องจากบริษัทมีกระแสเงินสดรับที่เพิ่มมากขึ้น ทริสเรทติ้ง
กล่าว--จบ--