กฟน.แจงเหตุบิลค่าไฟสูง ผลพวงอากาศร้อนเป็นเหตุ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 12, 2001 08:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--กฟน.
ม.ร.ว.จิยากร เสสะเวช ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า การไฟฟ้านครหลวง ( กฟน.) ขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับใบเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าหรือใบแจ้งหนี้ งวดประจำเดือนเมษายน 2544 ที่ผ่านมาว่า ตามที่เป็นข่าวว่ามีค่าไฟฟ้าสูงผิดปกติ
“ หากสังเกตให้ดี จะพบว่า ค่าไฟฟ้าที่ต้องชำระในช่วงฤดูร้อนของทุกปี จะสูงกว่าปกติ และจะลดลงเมื่อเข้าฤดูฝน จนกระทั่งถึงฤดูหนาว ค่าไฟฟ้าจะต่ำสุด และจะหมุนเวียนเป็นเช่นนี้เรื่อยไป สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศโดยตรง “ ม.ร.ว.จิยากร กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ปรากฏว่า ในเขตของกฟน.มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 43 ปี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2544 สถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดถึง 6,028.06 เมกกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี ที่แล้วถึง 229 เมกกะวัตต์
สถิติการใช้ไฟฟ้าในปีนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ปีนี้ สภาพอากาศร้อนอบอ้าวมาก ส่งผลให้เครื่องปรับอากาศและตู้เย็นทำงานหนักขึ้น แม้ว่าจะตั้งอุณหภูมิเท่าเดิมและเปิดใช้ในระยะเวลาเท่าเดิมก็ตาม
หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าถ้าใช้งานเครื่องปรับอากาศเท่าเดิม เครื่องปรับอากาศจะกินไฟเท่ากันทุกวัน ทั้งนี้ในความเป็นจริง หากสภาพอากาศภายนอกร้อนมาก เช่น อุณหภูมิภายนอกบ้าน 40 องศา อุณหภูมิในบ้านขณะยังไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ 36 องศา เมื่อเปิดเครื่องปรับอากาศและตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 20 องศา เครื่องปรับอากาศจะทำงานหนักมาก เพื่อให้อุณหภูมิห้องเย็นตามที่กำหนดไว้ เพราะมีส่วนต่างของอุณหภูมิถึง 16 องศา ขณะที่อากาศร้อนภายนอกยังคงถ่ายเทสู่ตัวบ้านตลอดเวลา ในบางครั้งอาจทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานตลอดเวลา และนั่นเป็นสาเหตุให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉพาะบ้านที่ใช้เครื่องปรับอากาศมีค่าไฟฟ้าสูงผิดปกติ เพราะประเมินแล้ว อุณหภูมิ 1 องศาที่เปลี่ยนไป จะใช้ไฟเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์
ในสภาวะการณ์เช่นนี้ สิ่งที่ทำได้คือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือวิธีปฏิบัติที่เคยชินบางอย่าง เช่น เคยตั้งอุณหภูมิความเย็นไว้ต่ำ ๆ ก็ควรเปลี่ยนมาตั้งไว้ที่ 25 — 26 องศา ขณะเดียวกัน ควรเรียกช่างมาทำความสะอาดและบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะที่ผ่านมา เมื่อ กฟน.แนะนำให้ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ ปรากฏว่าค่าไฟฟ้าลดลงไปกว่าเดิมได้มาก เพราะเครื่องปรับอากาศที่สกปรก จะทำให้การ ถ่ายเทความเย็นไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้น ค่าไฟฟ้าก็สูงตามขึ้นไปด้วย
นอกจากนี้ การติดตั้งฉากกั้นชนิดชั่วคราว เพื่อจำกัดพื้นที่ที่ต้องการความเย็น เช่น ในห้องนอน ติดตั้งฉากกั้นให้ความเย็นเฉพาะบริเวณเตียงนอนเท่านั้น วิธีนี้ จะช่วยลด การใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศลงได้
ส่วนในระยะยาวแล้ว ควรวางแผนในเรื่องของการประหยัดไฟฟ้า โดยเริ่มตั้งแต่โครงสร้างอาคาร ที่ออกแบบให้ทุกชั้นมีกันสาด หรือปลูกต้นไม้เพื่อแสงแสงแดดไม่ให้กระทบ ตัวบ้านโดยตรง การติดตั้งกระจกหน้าต่างชนิดกรองแสง การติดตั้งฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาและผนังบ้าน หรือการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศที่ได้รับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าวในตอนท้าย.
ร้อนนี้ใช้เครื่องปรับอากาศแบบไหนดี ?
ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศที่ใช้อยู่ในบ้านเรามีอยู่ 3 ชนิด คือ ชนิดติดหน้าต่าง เหมาะกับห้องที่มีลักษณะที่ติดตั้งวงกบหน้าต่าง , ติดกระจกส่องแสงที่ติดตาย หรือบานเกล็ด ส่วนใหญ่จะมีขนาด 9,000 —24,000 BTU / ชม.
ชนิดแยกส่วนติดฝาผนังหรือแขวนเหมาะสมกับห้องที่มีลักษณะทึบจะติดตั้งได้สวยงามแต่จะมีราคาแพงมากกว่าเมื่อเทียบกับกับชนิดต่างๆที่มีขนาดเท่ากัน เครื่องปรับอากาศชนิดนี้โดยส่วนใหญ่จะมีประสิทธิภาพสูงกว่ามีสวิทซ์ควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติแบบอิเลคทรอนิกสำหรับควบคุมอุณหภูมิความเย็นภายในห้องมีขนาดตั้งแต่ 8,000-24,000 BTU/ ชม.
เครื่องปรับอากาศชนิดแยกส่วนตั้งพื้นเหมาะสมกับห้องที่มีลักษณะเป็นกระจก ,ผนังทึบไม่อาจเจาะช่องเพื่อติดตั้งได้ โดยส่วนใหญ่จะมีขนาด 12,000 —36,000 BTU/ชม.
คำฮิตติดปากสลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5
หลายคนคงได้ยินกับโฆษณานี้มาแล้ว ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศแต่ละยี่ห้อผลิตแข่งขันออกกันเป็นจำนวนมากแต่ละรายอ้างสรรพคุณต่างๆในการประหยัดไฟฟ้า ดังนั้นในการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศ ผู้ซื้อควรศึกษารายละเอียดให้แน่ชัดเสียก่อนตัดสินใจซื้อ สำหรับสลากประหยัดไฟฟ้านั้น สำนักงานจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน หากผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศต้องการจะได้สลากประหยัดไฟจะต้องส่งเครื่องปรับอากาศรุ่นนั้นเข้าทำการทดสอบโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองคุณภาพ และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)จะจัดพิมพ์สลากเพื่อติดให้กับรุ่นของเครื่องปรับอากาศชนิดนั้นที่ผ่านการทดสอบ โดยกำหนดมาตรฐานดังนี้
เลข 5 ดีมาก หมายถึง ประสิทธิภาพสูงสุด ,เลข 4 ดี หมายถึง ประสิทธิภาพสูง ,เลข 3 ปานกลาง หมายถึง ประสิทธิภาพปานกลาง ,เลข 2 พอใช้ หมายถึง ประสิทธิภาพพอใช้ เลข 1 ต่ำ หมายถึง ประสิทธิภาพต่ำ
อย่างไรก็ตามเครื่องปรับอากาศที่มีคุณภาพที่ดีย่อมมีราคาแพงตามไปด้วย เครื่องปรับอากาศที่ได้สลากเบอร์ 5 ที่ขายกันอยู่ในบ้านเราในขณะนี้ มีขนาดประมาณ 9,000 —18,000 BTU ราคาก็จะแพงไปตามขนาด ส่วนที่ไม่ทำขนาดมากกว่านี้เป็นเหตุผลทางธุรกิจการตลาด
ทำอย่างไรถึงประหยัดค่าไฟฟ้าให้มากที่สุด ?
ในเบื้องตนก่อนการตัดสินใจซื้อเครื่องปรับอากาศท่านควรเลือกขนาดของเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมกับขนาดของห้องให้มากที่สุด หากห้องใหญ่มากแต่ท่านใช้เครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก เครื่องปรับอากาศจะต้องทำงานตลอดทำให้ยิ่งกินไฟมากขึ้น ดังนั้นท่านสามารถตรวจสอบว่าขนาดห้องของท่านว่าควรใช้เครื่องปรับอากาศเท่าใดโดยดูได้ตามตารางข้างล่างต่อไปนี้
ที่ขนาดความสูงของห้อง 3 เมตร
นอกจากขนาดเครื่องปรับอากาศแล้วการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพประหยัดไฟฟ้านั้น ท่านควรดูจากค่าประสิทธิภาพของความเย็น หรือที่เราเรียกว่า EER (Energy Effciency Ratio ) ค่า EER คือ อัตราส่วนระหว่างความสามารถในการให้ความเย็นของเครื่องปรับอากาศ ( BTU /Hr ) ต่อกำลังไฟฟ้า (Watt) โดยปกติยิ่งค่า EER มากเท่าใดประสิทธิภาพในการประหยัดไฟก็มีมากขึ้น ซึ่งบริษัทผู้ผลิตจะต้องมีบอกไว้ให้ลูกค้าทราบและท่านสามารถคำนวณได้เองโดยการนำเอาขนาดของเครื่องปรับอากาศ (BTU/Hr) หารด้วยกำลังไฟฟ้า(วัตต์)ที่ใช้ จะออกมาเป็นค่า EER เช่น แอร์ ขนาด 9,000 BTU กินไฟ 860 วัตต์ ค่า ERR คือ 10.46
เมื่อทำการติดตั้งแล้วท่านควรตรวจสอบอย่าให้ความร้อนเข้าสู่ตัวห้องเพราะจะทำให้คอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศต้องทำงานอย่างหนัก ประตูและหน้าต่างควรปิดให้มิดชิด ห้องที่บุผนังกันความร้อนจะประหยัดการทำงานของเครื่องปรับอากาศได้อย่างมาก และที่สำคัญท่านไม่ควรใช้อุปกรณ์ทำความร้อนในห้องเพราะจะทำให้ความเย็นสูญเสียอีกทั้งเครื่องต้องทำงานอย่างหนัก ในกรณีดังกล่าวเคยมีตัวอย่าง ร้านอาหารได้นำตู้แช่เข้าไปตั้งไว้ ผลปรากฏว่าค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนสูงมากเมื่อได้คำแนะนำจึงนำออกไว้นอกห้องปรากฏว่าค่าไฟฟ้าได้ลดลงมา
นอกจากนี้แล้วจุดที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศจะต้องสามารถกระจายความเย็นได้ทั่วห้องและควรปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับความสบายอย่าปรับให้อากาศเย็นจนเกินไป โดยทั่วไปแล้วควรปรับอุณหภูมิประมาณ 26 องศาเซลเซียส และถ้าปรับลงมา 1 องศาจะกินไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 10% และที่สำคัญควรทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งและตรวจสอบอุปกรณ์ ล้างเครื่อง เติมน้ำยาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนด
การเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศในแต่ละครั้งควรศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อและที่สำคัญควรตรวจสอบการให้บริการหลังการขายว่าจะต้องมีความเชื่อถือได้ไม่เอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป อย่างไรก็ตามการใช้เครื่องปรับอากาศคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเสียค่าไฟเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน แต่การประหยัดไฟฟ้าก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ในขณะนี้นอกจากจะช่วยประเทศชาติประหยัดพลังงานแล้วยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของท่านในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ดอย่างนี้ด้วย--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ