กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--ไอแอมพีอาร์
สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับชุมชนประมงตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล จัดทำ "โครงการเสริมศักยภาพสิทธิในการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน" ขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนให้มีความตระหนักรู้สิทธิของการพัฒนาบนพื้นฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม และสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อกำหนดรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเอง
เชาวลิต ชูสกุล แกนนำชุมชน มองว่าชุมชนปากน้ำมีวิถีชีวิตดั้งเดิมคือการทำอาชีพประมงเป็นหลัก แต่ในขณะที่พื้นที่ทำประมงและสัตว์น้ำไม่สามารถเติบโตได้ขนาดทันความต้องการของตลาด ทรัพยากรถูกใช้ไปโดยไม่มีการสร้างขึ้นทดแทน ชุมชนขาดความรู้เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินต่อไปอาจทำให้เกิดความสูญเสีย จึงต้องมาคิดร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ สิทธิในการจัดการสิ่งแวดล้อม และกำหนดกติกาในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่
"เดิมชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ป่าโกงกางก็มีการเข้าไปตัดมาเผาถ่าน ป่าก็หายไปเรื่อยเพราะไม่มีคนปลูก จึงต้องกำหนดระเบียบในการตัดไม้ ไม่ให้ใช้ในเชิงพาณิชย์ กำหนดพื้นที่และขนาดของต้นไม้ และเมื่อตัดไปใช้ต้องมีการปลูกทดแทน ส่วนในทะเลเกาะเขาใหญ่เราก็ไปผูกทุ่นเพื่อไม่ให้มีการทิ้งสมอเรือ เพราะตรงนั้นเป็นพื้นที่ของปะการัง" เชาวลิตระบุ
คณะทำงานจึงสร้างความตื่นตัวให้ชุมชนด้วยการจัดเวทีสมัชชาของตำบลปากน้ำ และร่วมกันกำหนดกติกาชุมชน สร้างข้อเสนอให้องค์กรท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเห็นความต้องการของชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับพื้นที่ สมาชิกในชุมชนเองก็ปรับตัวหันไปดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ การท่องเที่ยว รวมทั้งชักชวนเยาชนกลุ่มต่างๆ ช่วยกันเก็บขยะทำความสะอาดริมชายหาดทุกสัปดาห์
"เรามีการจัดประชุมทุกภาคส่วนก่อนจะกำหนดกติกาชุมชน หลังจากประชุมย่อยก็จะเชิญผู้ประกอบการต่างๆ ในพื้นที่มาร่วมรับฟังด้วย เดิมชาวบ้านเข้าใจว่าใครจะมาทำอะไรในชุมชนก็ได้ แต่หลังจากที่มีโครงการนี้เกิดขึ้น ชาวบ้านเกิดความตื่นตัวรับรู้ ทุนขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้ามากอบโกยได้ ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนชุมชนให้หันไปทำอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมากขึ้น แต่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน มีการอบรมมัคคุเทศก์ให้เยาวชนตอนนี้มีผู้ได้รับใบอนุญาตแล้ว 3 คน" เชาวลิตกล่าว
ปัจจุบันชาวปากน้ำเกิดความตื่นตัวในสิทธิ์ที่จะจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนมากขึ้น กำหนดกติกาชุมชนเพื่อไม่ให้สภาพแวดล้อมเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และร่วมกันรักษาสิทธิเพื่อไม่ให้เกิดการพัฒนาที่นำพาชุมชนไปสู่การล่มสลาย.