กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--ไอแอมพีอาร์
สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 14 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองกระบี่ จัดทำ "โครงการสายใยสัมพันธ์ ผู้ผลิต-ผู้บริโภค" เพื่อสร้างให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ผลิตสินค้าและอาหารปลอดภัย และเกิดการรวมตัวผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนให้เกิดความเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างตลาดสินค้าอาหารปลอดภัยหรือตลาดสีเขียวสำหรับคนที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ
ศรัณรัตน์ ศรีโรจน์สุธา คณะทำงานกล่าวว่าที่มาของโครงการฯ เกิดจากปกติแล้วครอบครัวในชุมชนเมืองจะไม่ค่อยทำอาหารรับประทาน นิยมเลือกซื้อหาหารตามตลาดทั้งที่ปรุงสำเร็จแล้ว และอีกส่วนหนึ่งก็จะเลือกซื้อเป็นวัตถุดิบต่างๆ เพื่อนำไปการประกอบอาหารที่บ้าน ปัญหาก็คือวัตถุดิบและอาหารปรุงสำเร็จที่ซื้อไปนั้น ไม่ทราบแหล่งที่มา ไม่รู้ว่าผลิตขึ้นมาโดยใส่ใจเรื่องความสะอดามากน้อยแค่ไหน ซึ่งทำให้อาจได้รับสารเคมีหรือสารพิษตกค้าง เกิดสะสมในร่างกายนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ ชาวกระบี่ที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพ จึงได้ร่วมกันคิดหาทางที่จะเชื่อมความต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยของผู้บริโภคไปสู่เกษตรกรผู้ผลิตอาหารที่ปลอดภัยโดยตรง
"ในชุมชนเมืองกระบี่มีผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพ ต้องการบริโภคอาหารปลอดภัย แต่ไม่มีข้อมูลหรือรับรู้แหล่งที่จะซื้อหาหาปลอดภัย ทางโครงการฯ จึงเป็นผู้เชื่อมทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายในชุมชน สรรหาและตรวจสอบแหล่งผลิตที่ปลอดภัย เช่น กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มทำประมงพื้นบ้าน กลุ่มทำกะปิ กลุ่มทำเครื่องแกง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นำสินค้าที่สด สะอาด ปลอดภัย มาจำหน่ายให้แก่กลุ่มสมาชิก และกำลังขยายกลุ่มออกไปเรื่อยๆ"
จากการดำเนินโครงการสายใยสัมพันธ์ ผู้ผลิต-ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยเป็นทางเลือกของผู้ห่วงใยสุขภาพ ขณะเดียวกันผู้ผลิตก็มีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตในราคาที่ดีมีคุณภาพในราคายุติธรรม ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็จะก่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตและช่องทางการจัดจำหน่ายที่เป็นตลาดสีเขียวเพื่อสร้างสุขภาวะของทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน.