กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือ เอ็มยูที จัดงานประชันไอเดียวิศวกรรุ่นใหม่ ในงาน "กล้าพัฒน์ 2560" หรือ "Imagination Encircles The World 2017" พร้อมประกาศผลรางวัลสุดยอดแนวคิดนวัตกรรมแห่งอนาคตประจำปี 2560 ได้แก่แนวคิดผลงาน SMART WHEELCHAIR หรือ เก้าอี้ผู้สูงอายุ ของทีม เก้าอี้สีเขียวนั่งคนเดียวไม่แบ่งใคร
รศ.ดร. สุเจตน์ จันทรังษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือ เอ็มยูที (MUT) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 27 ปีที่ผ่านมา MUT มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการเรียน การสอน และการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้มาตรฐานของ MUT นั้นเทียบชั้นแนวหน้าของมหาวิทยาลัยของเมืองไทย ดังเห็นได้จาก การประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา องค์การมหาชน หรือ สมศ. จัดให้ MUT มีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องงานวิจัยและการผลิตบัณฑิต มีผลประเมินอยู่ในระดับดีมาก 4.86 จากคะแนนเต็ม 5 รวมทั้ง นักศึกษาที่จบการศึกษามากถึงร้อยละ 95 ได้งานทำทันทีภายใน 4 เดือน และเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ผลิตวิศวกรคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานมากที่สุด คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 15 โดยกลุ่มผู้ประกอบการต่างชื่นชมว่าเป็น วิศวกรที่สามารถทำงานได้จริง มีความขยันและอดทน
การจัดงาน "กล้าพัฒน์" ถือเป็นการพัฒนาระบบการศึกษาอีกขั้นของไทย สอดคล้องกับแนวทางการศึกษามหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอังกฤษ ที่ต้องการพัฒนาให้นักศึกษาสามารถคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ และสามารถทำงานร่วมกับองค์กรระดับนานาชาติได้ โดยวัตถุประสงค์การจัดงานนี้ เพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี ความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม การสื่อสารและประสานงานร่วมกับผู้อื่น โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่กำลังขึ้นปีที่ 2 ได้แสดงผลงาน ไอเดียสร้างสรรค์ ผสมผสานงานวิจัย การพัฒนา เทคโนโลยีและดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของประเทศ
ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม รองอธิการบดี ฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือ เอ็มยูที (MUT) กล่าวเสริมถึงผลจากการประชุมเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum พบว่า ภายในปี พ.ศ. 2563 ทักษะที่จำเป็นในการทำงาน 5 ประการแรก ได้แก่ การแก้ปัญหาการคิดเชิงวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการประสานงานกับผู้อื่น ดังนั้น การพัฒนาองค์ความรู้แต่เพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอต่อการสร้าง "วิศวกรนักคิด" ที่มีคุณภาพ สถาบันการศึกษาในฐานะที่มีบทบาทสำคัญต่อการบ่มเพาะและพัฒนาบุคลากร นักประดิษฐ์ และผู้ประกอบการยุค Startup นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุค 4.0
ทั้งนี้ ผลงานที่ได้รับรางวัลสุดยอดแนวคิดนวัตกรรมแห่งอนาคต "กล้าพัฒน์" ประจำปี 2560 ได้แก่ แนวคิดผลงาน SMART WHEELCHAIR หรือ เก้าอี้ผู้สูงอายุ ของทีมเก้าอี้สีเขียวนั่งคนเดียวไม่แบ่งใคร โดยนายดุษฎี บุญโต นักศึกษาสาขาเครื่องกล เล่าถึงผลงานว่า "ได้รับแรงบันดาลใจจากคุณยายอายุ 95 ปี ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ จึงอยากพัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สามารถใช้เหลือและดูแลท่านได้ ทั้งระบบช่วยเตือนความจำ ระบบปรับที่นั่งอัตโนมัติลดอาการแผลกดทับ หรือการสื่อสารแบบสั่งงานด้วยเสียง โดยเก้าอี้ผู้สูงายุ มีแนวคิดหลักในการทำงานโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์สมองกล ระบบกำหนดตำแหน่งหรือ GPS รวมทั้งการพัฒนาระบบพลังงานแบบไร้สาย ด้วยการดึงสัญญานไร้สายจากอากาศ ทั้งคลื่นแม่เหล็ก คลื่นสัญญานโทรทัศน์ มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อใช้ควบคุมและเป็นพลังงานให้แก่เก้าอี้ผู้สูงอายุนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
"สำหรับผลงานในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของนักศึกษาวิศวกรรมรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นแรงสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในยุค 4.0 และเป็นการตอกย้ำถึงแนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรม จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่เป็นต้นกล้าและต่อยอดด้วยทักษะที่จำเป็นในการทำงานและดำรงชีวิตจริง เสริมด้วยความรู้ ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญตรงในแต่ละสาขา หากแต่ละสถาบันการศึกษาสามารถทำได้เช่นนี้ เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยในยุค 4.0 จะเติบโตและก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน" รองอธิการบดี กล่าวสรุป
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร โทรศัพท์ 02-988-4021-4 เว็บไซต์www.mut.ac.th.