กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--สถาบันยานยนต์
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยมุ่งสู่ยานยนต์อนาคต" พร้อมด้วย คุณอดิศักดิ์ โรหิตะศุน กรรมการสถาบันยานยนต์ รักษาการแทนผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ในการกล่าวต้อนรับและรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการ ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ณ สถาบันยานยนต์ สำนักงานบางปู จังหวัดสมุทรปราการ
"ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ ยานยนต์ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า" เริ่มได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยประสิทธิภาพการใช้พลังงานของมอเตอร์ที่สูงกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์ ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมต่ำกว่า และด้วยความตื่นตัวด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นไปสู่การประหยัดพลังงานและลดการปล่อยมลพิษสู่สภาพแวดล้อม ส่งผลให้เทคโนโลยียานยนต์โลกมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ส่งผลให้ระบบกักเก็บพลังงานและระบบขับเคลื่อนของยานยนต์จากถังน้ำมันและเครื่องยนต์สันดาปภายใน ปรับเปลี่ยนไปเป็นแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตยานยนต์รายสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ถึงแม้ว่ายังมีข้อจำกัดด้านสมรรถนะและราคาของอุปกรณ์ประจุไฟฟ้า (หรือแบตเตอรี่) ก็ตาม แต่ผู้ผลิตรถยนต์ต่างก็ได้เร่งพัฒนาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2563 ราคาแบตเตอรี่ลิเธียมจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าลดลง จนอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ในปี พ.ศ. 2559 ทั่วโลกมีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าสะสม 2 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด 1.2 ล้านคัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ 800,000 คัน โดยประเทศจีนมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา แต่จำนวนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.5 ของปริมาณรถยนต์ที่มีทั้งหมด จึงกล่าวได้ว่า รถยนต์ไฟฟ้า ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในตลาดการค้าโลก กระตุ้นให้ภาครัฐเกิดการพัฒนาในสองมิติ คือ มิติของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่รัฐกำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็น 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยอุตสาหกรรมยานยนต์จะต้องพัฒนาต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ และในมิติการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มุ่งไปสู่เป้าหมายการผลิตและใช้ยานยนต์อย่างยั่งยืน (Sustainable Mobility) ภายใต้แนวคิด "สะอาด-ประหยัด-ปลอดภัย"
เพื่อให้ประเทศไทยสามารถต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ด้วยการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนดังกล่าว หน่วยงานภาครัฐต้องดำเนินงานอย่างบูรณาการครอบคลุมทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง สำหรับมาตรการด้านอุปสงค์ ที่จะกระตุ้นตลาดในประเทศ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจสามารถจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่มาใช้งานได้ รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพิ่มสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าประเภทปลั๊กอินไฮบริด และประเภทแบตเตอรี่ มาใช้งานในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ สนามบิน พื้นที่ปลอดมลพิษภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และเขตอุทยานประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว เช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ในด้านอุปทาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (หรือ บีโอไอ) ได้เปิดการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุปกรณ์ประจุไฟฟ้าและสถานีให้บริการประจุไฟ ทั้งนี้การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องเสนอโครงการเป็นแผนงานรวม (Package) ประกอบด้วย การประกอบรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ มอเตอร์ แบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) และระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) แผนการจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้ว และที่สำคัญคือต้องมีแผนการพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบหรือผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการในประเทศ
สำหรับการดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ บทพื้นที่ 1,200 ไร่ ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนผลิตยานยนต์แห่งอนาคต โดยศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะเปิดดำเนินการในเฟสแรกภายในเดือนมีนาคม 2561 และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ดำเนินการมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยมาตรฐานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ คือ มาตรฐานเต้ารับ-เต้าเสียบ (มอก.2749) และอยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานอื่นๆ ได้แก่ มาตรฐานระบบการประจุไฟฟ้า มาตรฐานความเข้ากันได้ของแม่เหล็กไฟฟ้า และมาตรฐานแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้ดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมการติดตั้งอุปกรณ์ประจุไฟฟ้า เพื่อเป็นการส่งเสริมด้านการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในอีกทางหนึ่งด้วยจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้สถาบันยานยนต์ได้รับมอบหมายจากสำนักงานปลัด กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินโครงการ "ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า" ณ สถาบันยานยนต์ สำนักงานบางปู โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการ ภาครัฐและประชาชนทั่วไป และสนับสนุนการดำเนินการด้านนวัตกรรมให้แก่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งจะเป็นรากฐานที่จะต่อยอดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดยโครงการ "ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า" มีแผนดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 - 2563 ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 สร้างความร่วมมือ เพื่อพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ให้แก่ผู้ประกอบการไทย ดังนี้
• ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ วิจัยเรื่องการออกแบบและแพ็คแบตเตอรี่ไฟฟ้าต้นแบบสำหรับรถยนต์นั่ง
• ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศึกษาเทคโนโลยีและชิ้นส่วนสำคัญในยานยนต์ไฟฟ้า
• ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเทคโนโลยีอุปกรณ์การประจุไฟฟ้าและความปลอดภัย
โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ คือ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย จำกัด บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการสนับสนุนการจัดหารถยนต์ไฟฟ้า บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท อี วี เอฟ จำกัด ในการสนับสนุนอุปกรณ์ประจุไฟฟ้า ทั้งนี้ เมื่อสถาบันฯ และหน่วยงานเครือข่ายดำเนินการวิจัยร่วมกันแล้วเสร็จ จะมีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) จำนวน 3 หลักสูตร ภายในเดือนสิงหาคม 2560 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ผู้ประกอบการนำร่องพัฒนาต่อยอดการผลิตในปีถัด ๆ ไป
กิจกรรมที่ 2 จัดทำฐานข้อมูลผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าของโลก เพื่อเป็นฐานข้อมูลสนับสนุนห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และได้จัดทำการศึกษาผลกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต่อห่วงโซ่มูลค่ายานยนต์ไทย เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ให้ปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีต่อไป
กิจกรรมที่ 3 จัดทำวีดิทัศน์ความรู้ยานยนต์ไฟฟ้าเบื้องต้น เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างแก่ประชาชนและผู้ที่สนใจทั่วไป จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้ากับอนาคตที่ยั่งยืน ยานยนต์ไฟฟ้าและความปลอดภัย และการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้สนใจด้านยานยนต์ไฟฟ้าได้เข้าถึงข้อมูลวิชาการและภาคอุตสาหกรรม สถาบันฯ จึงได้จัดทำศูนย์การเรียนรู้
เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ณ สำนักงานบางปู โดยภายในนิทรรศการดังกล่าว ได้จัดแสดงข้อมูลยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนตัวอย่าง แบบจำลองระบบขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า และสื่อวีดิทัศน์ รวมถึงสถานีประจุไฟฟ้า อีกด้วย
สถาบันฯ มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยในปีถัดไปสถาบันฯ จะต่อยอดองค์ความรู้ ดำเนินการวิจัยในเรื่องต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อก่อให้เกิดการผลิตได้จริง และก่อให้เกิดองค์ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าในวงกว้าง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และสามารถรับมือได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้อย่างยั่งยืน