กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้นทุกชนิดโดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 3.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Reuters คาดการณ์ปริมาณการส่งมอบน้ำมันดิบ Brent, Forties, Oseberg และ Ekofisk (BFOE) จากแหล่งในทะเลเหนือ เดือน ส.ค.60 ลดลงจากเดือนก่อน 136,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 716,000 บาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 3 ปี
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 60 ลดลง 6.3 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 502.9 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 60
· รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Alexander Novak เผยรัสเซียมีความเชื่อมั่นว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังของปี 60 เนื่องจากความต้องการใช้ที่เติบโตในไตรมาสที่ 3/60 ทั้งนี้รัสเซียมีแผนที่จะจัดประชุมกับกลุ่ม OPEC นอกรอบในวันที่ 24 ก.ค. 60 เพื่อติดตามผลและหาแนวทางที่จะควบคุมอุปทานน้ำมันดิบในตลาด
· สหรัฐฯ เผยเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธทางไกลข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile หรือ ICBM) แม้การทดสอบครั้งนี้ขีปนาวุธจะตกอยู่ในอาณาเขตทางทะเลของประเทศญี่ปุ่น แต่ทว่าสหรัฐฯ เห็นว่าเกาหลีเหนือมีศักยภาพที่จะพัฒนาระยะยิงไปไกลถึงมลรัฐอลาสกา
· ความตึงเครียดในตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นหลังกาตาร์ไม่ยอมรับข้อเสนอ 13 ข้อของซาอุดีอาระเบียและพันธมิตร (อาทิ การปิดสำนักข่าว Al Jazeera, การถอนฐานทัพของตุรกีในประเทศกาตาร์ และการลดความสัมพันธ์กับอิหร่าน) ล่าสุดรัฐบาลกาตาร์ตั้ง Compensation Claims Committee เพื่อรับคำเรียกร้องค่าเสียหายของภาคธุรกิจ อาทิ Qatar Airways จากซาอุดีอาระเบียและพันธมิตร นอกจากนี้ใน วันที่ 12 ก.ค. 60 Reuters รายงานกำลังทหารที่ตุรกีส่งมาประจำการเพิ่มเติมเดินทางมาถึงฐานทัพของตุรกีในกาตาร์
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) เพิ่มขึ้น 15,518 สัญญา มาอยู่ที่ 172,810 สัญญา
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig Count) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 7 แท่น มาอยู่ที่ 763 แท่น
· EIA ระบุปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 30 มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 9.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.2 % ทั้งนี้น้ำมันดิบของสหรัฐฯ เป็นน้ำมันดิบชนิด Light ได้รับความได้รับความสนใจจากโรงกลั่นเอเชียและยุโรปเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบตะวันออกกลางเริ่มปรับตัวสูงขึ้น
· Reuter รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบีย เดือน มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 80,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 810,000 บาร์เรลต่อวัน และ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรีย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 50,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 1,780,000 บาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI เพิ่มขึ้นหลัง API รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 495.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ดังเห็นได้จากที่ยุโรปส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังเอเชียและตะวันออกกลาง ซึ่งนับเป็นเรื่องไม่ปกติและไม่ได้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว เนื่องจากเส้นทางการค้า (Trade Flow) โดยทั่วไปเอเชียจะมีปริมาณน้ำมันดีเซล เหลือส่งออกไปยุโรป สะท้อนว่าความต้องการใช้ในเอเชียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากอินเดียประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันในเอเชียปิดซ่อมบำรุงมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม สภาพการณ์โดยรวมในปัจจุบัน อุปทานยังคงล้นตลาดอยู่มากแม้จะบรรเทาลงจากเดิม ล่าสุด Goldman Sachs ชี้ว่าราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI มีโอกาสลดลงแตะ40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หากปริมาณสำรองน้ำมันดิบและแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ ไม่ลดลงอย่างเด่นชัดและต่อเนื่องเพียงพอ ขณะที่ด้านเศรษฐกิจโลก มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีของกรีก ล่าสุด European Stability Mechanism ซึ่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ที่สุดในกรีซเปิดเผยว่ากรีซกำลังเตรียมพร้อมออกพันธบัตรรัฐบาลหลังจากไม่สามารถเข้าสู่ตลาดเงินระหว่างประเทศได้เป็นระยะเวลา 3 ปี เท่ากับว่านักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจกรีซมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนภูมิภาคยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางว่าจะได้รับแรงกดดันทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อีกทั้งเผชิญปัญหาแรงงานมีฝีมือไหลออกนอกประเทศเพิ่มขึ้น ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 45-49.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ WTI NYMEX จะอยู่ในกรอบ 42.5-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในกรอบ 44.0-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของ Pakistan State Oil (PSO) ของปากีสถานออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน ปริมาณรวม 5.5 ล้านบาร์เรล ส่งมอบ เดือน ส.ค.- ก.ย. 60 และ Hindustan Petroleum Corp. Ltd. (HPCL) ของอินเดียออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซินปริมาณรวม 600,000 บาร์เรล ส่งมอบ 12-20 ก.ค. 60 ประกอบกับ Platts รายงานการค่าจ้างเรือ Barge เพื่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้นเพราะระดับน้ำของแม่น้ำไรน์ลดลงเพราะฝนตกน้อย ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillatesเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 390,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.75 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 1 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.15 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามอุปทานน้ำมันเบนซินของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลัง Sinopec ของจีนปรับปรุงกระบวนการกลั่นของโรงกลั่น จำนวน 11 แห่ง ให้กลั่นน้ำมันตามมาตรฐาน National Phase 6 (เทียบเท่า Euro 6) ที่จะใช้ตั้งแต่ 1 ก.ค. 63 ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57-61.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจาก Platts คาดอุปสงค์น้ำมันดีเซลที่ไม่รวมการเก็บสำรองน้ำมัน (Apparent Oil Demand) ของจีน เดือน ม.ค. -พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.6% มาอยู่ที่ 3.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ อุปสงค์น้ำมันดีเซลในอินเดียแข็งแกร่ง เนื่องจากไฟฟ้าดับหลายครั้ง ทำให้ต้องเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่ภาคเกษตรกรรมต้องใช้ปั๊มน้ำเพื่อทำการเกษตรเนื่องจากฝนตกเบาบางในช่วงต้นฤดูมรสุม ประกอบกับ บริษัท Showa Shell Sekiyu KK ของญี่ปุ่น มีแผนปรับลดอัตราการกลั่นของบริษัท ในช่วงไตรมาสที่ 3/60 ลงจากปีก่อน 3% มาอยู่ที่ 462,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเพิ่มขึ้น โดย IESรายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.61 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.61 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 1 ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 300,000 บาร์เรล อยู่ที่ 9.52 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56.5-61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล