ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ชี้ทางออกลูกหนี้การเงินไม่จำเป็นต้องยุติด้วยการฟ้องร้องที่ศาล

ข่าวทั่วไป Wednesday November 28, 2001 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--มพช.
ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ชี้ทางออกลูกหนี้การเงินไม่จำเป็นต้องยุติด้วยการฟ้องร้องที่ศาล สามารถใช้บริการของศูนย์ได้ทั้งคดีที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องและยังไม่ฟ้องร้อง เผยมีผู้มาใช้บริการถึง 1,470 คดี นำเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยแล้ว 106 คดี มีผลการไกล่เกลี่ยสำเร็จยุติข้อพิพาทแล้ว 96 คดี
นายพรชัย อัศววัฒนาพร ผู้พิพากษาศาลแพ่งใต้ ในฐานะกำกับดูแลโครงการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า นับแต่จัดตั้งศูนย์ฯ ได้มีมีลูกหนี้และเจ้าหนี้มาใช้บริการไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงตุลาคม 2544แล้ว 1,470 คดี แบ่งเป็นคดีไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั่วไป จำนวน 31 เรื่อง คดีไกล่เกลี่ข้อพิพาททางการเงินที่ศาลส่งมา 2 เรื่อง คดีไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการเงินที่ศาลแขวงส่งมา 1,407 เรื่อง และคดีไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 29 เรื่อง รวมทุนทรัพย์ 421.35 ล้านบาท
ทั้งนี้แบ่งเป็นคดีที่สู่ระบบไกล่เกลี่ยทั้งหมด 106 เรื่อง คดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 861 เรื่อง ซึ่งมีผลการไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 96 เรื่อง นอกจากนี้มีคดีที่ต้องส่งคืนศาลเพราะเหตุไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ หรือโจทย์ไม่ประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยอีก 500 เรื่อง
ในการดำเนินงานทางศูนย์จะเป็นผู้ประสานงาน และเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งทางการเงินให้แก่คู่ความที่มีปัญหาขัดแย้ง เพื่อให้ข้อตกลงโดยดี เป็นการแบ่งเบาภาระคดีทางการเงินที่ศาลมีอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา
"ศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ไม่ได้จำกัดลูกหนี้ที่จะเข้ามาใช้บริการ แต่จะให้บริการลูกหนี้ทุกประเภทที่มีปัญหาข้อพิพาททางการเงินเท่านั้น ไม่ว่ารายย่อย กลาง และใหญ่ ทั้งกรณีที่ถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลและยังไม่ได้ถูกฟ้องร้อง"
จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ลูกหนี้ที่มีปัญหาขัดแย้งทางการเงินจากศาลแขวง ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหนี้รายย่อย เกี่ยวกับปัญหาหนี้บัตรเครดิตซึ่งถูกเจ้าหนี้ฟ้องให้ชำระเงินมากที่สุด รองลงมาเป็นคดีเงินกู้ต่าง ๆ ในขณะที่ลูกหนี้เอ็นพีแอลของสถาบันการเงินยังมีจำนวนไม่มากนัก
ในการไกล่เกลี่ยของศูนย์นั้น จะใช้วิธีเชิญผู้ไกล่เกลี่ยซึ่งมี 2 ประเภทคือ ผู้ทรงคุณวุฒิรับเชิญเฉพาะด้าน เช่นด้านเงิน การจัดการ บริหาร และกฎหมาย และรับสมัครจากบุคคลภายนอกที่ได้ผ่านการ อบรมและขึ้นทะเบียนของศูนย์ มาทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้
"ที่ผ่านมาศูนย์ได้เปิดรับสมัครผู้ไกล่เกลี่ยรุ่นแรกและรุ่นที่สองไปเรียบร้อยแล้ว รุ่นละ 50 คน โดยมีกำหนดจะรับสมัครรุ่นต่อไป เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้วย"
หน้าที่หลักของผู้ไกล่เกลี่ย คือ คอยช่วยเหลือและสนับสนุนในการเจรจา ตลอดจนแนะแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อให้ยุติข้อพิพาท โดยจะเก็บรักษาความลับข้อมูลของคู่พิพาท และไม่ให้ใช้ข้อมูลไปอ้างอิงต่อศาล ซึ่งวิธีการที่ศูนย์ฯใช้ทำให้ลูกหนี้เกิดความมั่นใจเพราะมีคนกลาง ซึ่งทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ สามารถเลือกบุคคลผู้ไกล่เกลี่ยเองได้ หรือจะให้ทางศูนย์ฯเป็นผู้จัดหา โดยในระยะต่อไปทางศูนย์จะจัดให้มีห้องไกล่เกลี่ยโดยเฉพาะเพิ่ความเป็นส่วนตัวและสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเอง
"นับแต่เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มมีผู้มาใช้บริการของศูนย์มากขึ้น โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงด้วยการฟ้องร้องที่ศาลซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูง ถือเป็นทางออกของการแก้ปัญหาลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่มีปัญหาทางการเงินด้วยวิธีการพูดคุยและผ่อนปรน" ผู้พิพากษาศาลแพ่งใต้ ในฐานะกำกับดูแลโครงการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกล่าว
อนึ่ง การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) ในโครงการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแบ่งเบาภาระคดีทางการเงินที่ศาลมีอยู่ รวมถึงการจ้างผู้เชี่ยวชาญ และอบรมบุคลากรเพื่อทำหน้าไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการเงิน ตลอดจนการปรับปรุงสถานที่เพื่อรองรับการดำเนินงาน มีระยะเวลาดำเนินการภายใน 2 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544-2545
ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช. โทร 0-2279-8001, 0-2616-2214-5--จบ--
-ตม-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ