กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำไหลหลากในพื้นที่จังหวัดชัยนาท และจันทบุรี รวม 4 อำเภอ 15 ตำบล 20 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังบางพื้นที่ของจังหวัดจันทบุรี ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้ประสานให้จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยจากฝนตกหนักและปริมาณฝนสะสมในระยะนี้
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากใน 2 จังหวัด 4 อำเภอ 15 ตำบล 20 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ชัยนาท เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 - 5 ตำบลไร่พัฒนา หมู่ที่ 1 และ 3 ตำบลอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ หมู่ที่ 4 และ 8 ตำบลเสือโฮก อำเภอเมืองชัยนาท ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 172 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 3,200 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง จันทบุรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 เกิดน้ำท่วมพื้นที่ตลอดแนวชายทะเลในพื้นที่ 2 อำเภอ 12 ตำบล 12 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทบุรี ตำบลเขาวัว ตำบลเขาบายศรี ตำบลสีพยา ตำบลบ่อพุ ตำบลสองพี่น้อง ตำบลรำพัน ตำบลเขาวัว ตำบลพลอยแหวน ตำบลคลองคุด ตำบลโขมง และตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังบริเวณตลาดเจริญสุข หมู่บ้านมั่นคง และชุมชมนาฏศิลป์ ระดับน้ำสูง 20 – 30 เซนติเมตร รถสามารถสัญจรได้ ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่องและฝนตกหนักบางพื้นที่ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปภ.จึงได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ดังกล่าว เตรียมพร้อมรับมือป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยจากฝนตกหนักและปริมาณฝนสะสมในระยะนี้ โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป