กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติในการขับรถของผู้สูงอายุอย่างปลอดภัย โดยปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินสมรรถนะในการขับรถ นำยารักษาโรค และบัตรประจำตัวติดตัวไว้ หลีกเลี่ยงการขับรถในช่วงเวลากลางคืน ฝนตกหนัก หมอกควันปกคลุม ไม่ขับรถระยะทางไกลหรือในช่วงที่การจราจรติดขัด หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรขับรถด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ผู้สูงอายุมีสภาพร่างกายไม่แข็งแรง สายตาพร่ามัวและโรคประจำตัวบางโรค จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถ โดยเฉพาะหากอาการของโรคกำเริบ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในผู้ขับขี่ที่เป็นผู้สูงอายุ ดังนี้ ก่อนขับรถ ปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินสมรรถนะในการขับรถ ทั้งการมองเห็น กำลังกล้ามเนื้อ การทำงานของแขนและขาหากแพทย์ไม่อนุญาต ห้ามขับรถโดยเด็ดขาด นำยารักษาโรคและบัตรประจำตัวติดตัวไว้เสมอ พร้อมระบุอาการ วิธีการช่วยเหลือและสิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้ช่วยเหลือทันท่วงที ขณะขับรถ หลีกเลี่ยงการขับรถในช่วงที่ทัศนวิสัยไม่ดี อาทิ ช่วงเวลากลางคืน ฝนตกหนัก หมอกควันปกคลุมเส้นทาง เพราะสายตาไม่สามารถปรับสภาพให้มองเห็นเส้นทางได้อย่างชัดเจน จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ขับรถระยะทางไกลหรือในช่วงที่การจราจรติดขัด เพราะผู้สูงอายุจะมีอาการอ่อนเพลียได้ง่าย จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที ที่สำคัญ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวร้ายแรง อาทิ โรคหัวใจโรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคเบาหวานในระยะรุนแรง ไม่ควรขับรถด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย ควรให้ผู้อื่นขับรถแทน หรือใช้บริการรถแท๊กซี่ รถโดยสารสาธารณะ