กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--มรภ.สงขลา
เสร็จสิ้นไปด้วยดีสำหรับการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10 กับครั้งแรกของ มรภ.สงขลา ในการส่งนักศึกษาร่วมชิมลางหาประสบการณ์ ซึ่ง "นิติรัฐ พงษ์พิลา" ทำผลงานได้โดดเด่น เป็นตัวแทนภาคใต้เข้าชิงชัยระดับประเทศ ร่วมกับเพื่อนๆ จาก 30 สถาบัน ก่อนจบเส้นทางฝันด้วยการเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย
นิติรัฐ พงษ์พิลา หรือ "น๊อต" นักศึกษาชั้นปีที่ 3 โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้าอุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวที่มีโอกาสเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ หนุ่มน้อยผู้ใช้เวลาว่างหารายได้เสริมระหว่างเรียน ด้วยการรับซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ และรับปรับแต่งเครื่องยนต์เล็กๆ น้อยๆ ทว่า สิ่งนี้เองที่ช่วยให้เขามีทักษะในการออกแบบ และเปล่งประกายความสามารถจนเข้าตา ดร.กันตภณ มะหาหมัด รองคณบดีฝ่ายวิชาการและงานวิจัย ส่งเข้าร่วมแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ในนาม มรภ.สงขลา เป็นครั้งแรก ซึ่งนิติรัฐ และเพื่อนร่วมทีมจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตรัตภูมิ สามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม คว้ารางวัลรองชนะเลิศ รอบภูมิภาค ภาคใต้ เป็นตัวแทนไปร่วมแข่งขันระดับประเทศที่กรุงเทพฯ
นิติรัฐ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเกินกว่าฝันมากๆ ไม่คิดว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้ และไม่ได้คาดหวังรางวัลอะไร เพียงต้องการเปิดประสบการณ์และได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ มาร่วมแบ่งปันความรู้ด้วยความสนุก ทั้งในรอบภูมิภาคและระดับประเทศ ซึ่งในรอบระดับประเทศตนสังกัดทีมแกล้งดิน สมาชิกในทีมประกอบด้วยเพื่อนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยตนรับผิดชอบการผลิตหุ่นยนต์ กลไกแมคคาทรอนิค ระบบของหุ่น ส่วนเพื่อนๆ ดูแลเรื่องโปรแกรม ซึ่งการที่แต่ละคนมาจากต่างที่ต่างถิ่นทำให้ต้องปรับตัวเข้าหากัน สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน ทุกคนในทีมช่วยกันเต็มที่จนผ่านถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย แม้จะไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่สำหรับตนการมาได้ไกลขนาดนี้ถือเป็นความสำเร็จอย่างที่สุดแล้ว
นิติรัฐ กล่าวอีกว่า การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10 จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้แนวคิด"รัชกาลที่ 9 กับการเกษตร" โจทย์ที่พวกตนต้องทำคือ สร้างสรรค์หุ่นยนต์ให้สามารถจัดการกับพื้นที่เกษตร อาทิ หุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับเก็บเกี่ยวข้าว หุ่นยนต์แมนนวลควบคุมด้วยมือสำหรับเก็บเกี่ยวผลผลิตและขนย้ายสัตว์ โดยต้องทำภารกิจต่างๆ ให้สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด
"การได้เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ทำให้ผมเรียนรู้ว่า อย่าดูถูกตัวเองว่าทำไม่ได้ ทั้งที่ยังไม่เคยลอง ความเป็นราชภัฏไม่ด้อยไปกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ อยากให้ทุกคนรู้ว่า มรภ.สงขลา ก็มีดี คนเรามีศักยภาพในการทำสิ่งต่างๆ แต่จะทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเรา ต้องมีความกล้าที่จะลองสิ่งใหม่ๆ จึงจะรู้ถึงความยากง่าย หลังจากนี้ผมจะกลับไปฟอร์มทีม เพื่อเปิดโอกาสให้รุ่นน้องที่สนใจในด้านนี้ได้มีประสบการณ์ดีๆ เหมือนเช่นผม ไม่แน่ว่าการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ในปีหน้า อาจมีนักศึกษาจาก มรภ.สงขลา ผ่านเข้าแข่งขันมากขึ้นก็ได้" นิติรัฐ กล่าว
ด้านที่ปรึกษาอย่าง ดร.กันตภณ มะหาหมัด รองคณบดีฝ่ายวิชาการและงานวิจัย คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา กล่าวว่า ในศาสตร์ของเทคโนโลยีไฟฟ้าอุตสาหกรรม มีวิชาที่เกี่ยวกับระบบควบคุมไฟฟ้า นิติรัฐที่มีความสนใจเรื่องหุ่นยนต์เป็นทุมเดิมอยู่แล้ว จึงนำไปประยุกต์ใช้กับระบบอิเลคทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ประกอบกับเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2559 ทางคณะฯ ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดอบรมจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขนาดเล็ก ถือเป็นการจุดประกายในเรื่องนี้ก็ว่าได้ ซึ่งได้วางแผนงานร่วมกับนิติรัฐ ในการถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากการแข่งขันให้กับรุ่นน้อง โดยมีเขาเป็นพี่เลี้ยงและตนเป็นที่ปรึกษา
ดร.กันตภณ กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนานักศึกษาให้มีศักยภาพ สามารถที่จะแข่งขันกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้นั้น ทางคณะฯ ให้การส่งเสริมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะด้านออกแบบหุ่นยนต์หรืองานทางด้านวิศวกรรมอื่นๆ ซึ่งคณะฯ มีนโยบายผลักดันนักศึกษาสู่เวทีเปิดประสบการณ์ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
การที่ มรภ.สงขลา สามารถสร้างชื่อในเวทีระดับภาคและระดับประเทศได้ ทั้งที่เพิ่งเข้าแข่งขันเป็นปีแรก ต้องยกความดีให้กับ นิติรัฐ พงษ์พิลา ที่มุ่งมั่น ทุ่มเท เชื่อในศักยภาพตนเองและภูมิใจในความเป็นราชภัฏ จนนำพาเขามายังจุดที่เรียกได้ว่า ไกลเกินกว่าฝัน