กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--ไอแอมพีอาร์
สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ โรงเรียนบ้านป่าตง ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดทำ โครงการ "การส่งเสริมการบริโภคผัก ผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียนบ้านป่าตง" ชวนเด็กนักเรียนกินผักและผลไม้ สร้างเสริมสุขนิสัยในการรับประทานอาหารให้ครบถ้วนทุกหมวดหมู่
ครูไพฑูรย์ จันทร์ชุม กล่าวว่าโรงเรียนบ้านป่าตง มีนักเรียน 135 คน เปิดสอนระดับอนุบาลถึงชั้นประถมปีที่ 6 แต่จากการสังเกตพบว่าส่วนใหญ่ไม่ชอบรับประทานอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบ มักจะเหลือเททิ้งเป็นประจำไม่กินผัก จึงร่วมกับผู้ปกครอง กลุ่ม อสม. และครูภูมิปัญญาท้องถิ่นวางแผน โดยหาทางทำให้เมนูอาหารทุกมื้อกลางวัน มีผักเป็นส่วนประกอบ และเชิญวิทยากรจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต้นยวน มาสร้างเจตนคติที่ดีเกี่ยวกับการกินผัก โดยใช้สื่อวิดีโอ การ์ตูน โน้มน้าวให้รับรู้ถึงประโยชน์ของการกินผัก มีการปรับเปลี่ยนเมนูอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบ โดยตกแต่งให้มีสีสันที่ดูน่ารับประทาน เพื่อให้เด็กๆ ในโรงเรียนและชุมชนแห่งนี้ได้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ สร้างเสริมสุขนิสัยในการรับประทานอาหารให้ครบถ้วนทุกหมวดหมู่
"ในช่วงแรกๆ ก็มีการต่อต้านจากเด็กๆ บ้าง แต่ต่อมาก็เริ่มดีขึ้น โดยได้สร้างแกนนำเด็กรุ่นพี่ ชั้น ป.5 และ ป.6 ช่วยสังเกตพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเด็กนักเรียนรุ่นน้อง และช่วยโน้มน้าวในการกินผัก แรกๆ ที่เด็กแสดงอาการต่อต้าน เราก็ใช้รุ่นพี่คอยช่วยดู ระยะหลังเริ่มดีขึ้น มีคนที่ไม่กินผักเหลือไม่ถึงรอยละ 10 เพราะมีการโน้มน้าวอยู่ตลอด เด็กๆ เกิดความสุข โชว์ให้เพื่อนๆ เห็นว่ากินผักได้แล้วนะ แล้วทางเราก็มีการปรับเมนู ผักบางชนิดก็ทำเป็นเมนูขนมเพื่อให้รับประทานง่ายขึ้น นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังสร้างแหล่งผลิตอาหารขึ้นเองทั้งการทำบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ไข่ ปลูกผักนานาชนิด อาทิผักบุ้ง ผักกาดขาว กวางตุ้ง แตงกวา บวบ ถั่วฝักยาว โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการปลูก เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ และสร้างจิตวิทยาในการกินผักที่ตัวเองปลูก" ครูไพฑูรย์ระบุ
แม้โรงเรียนบ้านป่าตงจะอยู่ในชนบทที่ห่างไกล แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านทุกคนในชุมชนแห่งนี้ โดยมีสถานศึกษาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อน อันมีเป้าหมายในเพื่อให้ลูกหลานของชาวบ้านป่าตงทุกคนได้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ มีสุขนิสัยในการปรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการปลูกฝังและสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน.