กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
ยุคสมัยนี้ ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของธุรกิจกัน! คนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นมนุษย์เงินเดือน ต่างพากันเปิดร้านรวงขึ้นกันเป็นดอกเห็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ร้านกาแฟ" แต่จะทำร้านแค่สวยอย่างเดียวคงไม่พอ วันนี้มิวเซียมสยามเลยทดลองเปิดตัว "คาเฟ่ไทยไทย"นิทรรศการห้องหนึ่งโดยคนดังอย่าง "ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน" ที่แฝงตัวมาอยู่ในรูปของร้านกาแฟทางเลือกมากไอเดีย เชิญชวนทุกคนมาดื่มกาแฟพลางละเลียดขนมไทยเพลินปาก พร้อมใช้เวลาขบคิดว่า "ทำไมของไทย ถึงไม่ต้องโบราณ" กระตุ้นแนวคิด พัฒนาเทคนิคการประกอบการใหม่ด้วยภูมิปัญญาไทยรอบตัว ที่นำไปประยุกต์ใช้เสริมสร้างรายได้ได้จริง จากนิทรรศการ "ไทยทำ...ทำทำไม" เก๋ไก๋อย่างไรตามมาชมกัน
"คาเฟ่ไทยไทย" เป็นหนึ่งในสามห้องของนิทรรศการ "ไทยทำ...ทำทำไม" ที่เนรมิตให้กลายเป็นร้านกาแฟมากไอเดีย ตกแต่งด้วยงานหัตถกรรมพื้นบ้านไทย พร้อมเสิร์ฟขนมหวาน กาแฟ และเครื่องดื่มอื่นๆ ในแบบฉบับ "ไทยทำ" โดยมีแนวความคิดจากการดึงจุดเด่นความเป็นเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาไทยรอบตัว สร้างเรื่องราวและเพิ่มมูลค่าสิ่งต่างๆ ส่งเสริมให้นำไปต่อยอดแนวความคิดสำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่ ให้สามารถสร้างรายได้ได้จริงจากการใช้ภูมิปัญญาไทย
คุณก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน ผู้สร้างสรรค์คาเฟ่ไทย ไทย กล่าวว่า ผู้ที่มาเยี่ยมจะสามารถสัมผัสกลิ่นอายของ "คาเฟ่ไทยไทย" ได้ตั้งแต่ก้าวเท้าผ่านเข้ามาพบกับมุมรับแขกประจำคาเฟ่ ที่จำลองมาจากวัฒนธรรมการนั่งรับประทานข้าวบนพื้นในสมัยก่อน จัดแต่งอย่างง่ายๆ แต่แปลกตาด้วยหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นขันโตกจักสานจากไม้ไผ่ พื้นปูด้วยเสื่อกกจันทบูรของชาวจันทบุรี ผ้าปูโต๊ะทำจากผ้าหมักโคลนเนื้อนิ่มของดีเมืองสุโขทัย พร้อมเครื่องแขวนดอกไม้สด ยิ่งไปกว่านั้น ผนังร้านยังตกแต่งด้วยเครื่องจักสานพื้นบ้านมากประโยชน์ใช้สอย อาทิ งอบ กระจาด กระบุง กระด้ง ที่เรียบง่าย แต่มีเอกลักษณ์ สร้างบรรยากาศแปลกตาให้กับร้านกาแฟแห่งนี้ และทีเด็ดก็คงหนีไม่พ้นชั้นวางคอลเล็กชั่นนางกวักหลายสิบองค์ เทพีที่เชื่อว่าช่วยกวักเรียกลูกค้าเข้ามายัง "คาเฟ่ไทยไทย" แห่งนี้ มิน่า ลูกค้าแน่นตลอดเวลาเลยเชียว
จุดเด่นกลางห้องที่ทุกคนไม่อาจพลาดสายตาไปได้ก็คงเป็นของดังเมืองตรัง รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ สามล้อน่ารักที่มีอายุยาวนานราวครึ่งศตวรรษ เดินทางมาไกลจากเมืองตรังเชียวนะ ปัจจุบันเลิกผลิตไปแล้ว แต่ "คาเฟ่ไทยไทย" นำมาชุบชีวิต ดัดแปลงให้เป็นรถขายขนมประจำคาเฟ่ ตามสไตล์ Food Truck ที่กำลังเป็นที่นิยมในกรุงขณะนี้ มาร้านกาแฟทั้งที ทางร้านก็มีเครื่องดื่มหัวไทยให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
กาแฟใส่นมในถุงพลาสติกมัดจนโป่งพองและใส่ในถุงกระดาษสีน้ำตาลอีกที นับเป็นนวัตกรรมด้าน Packaging ที่มีเฉพาะในไทยเท่านั้น เชื่อหรือไม่ว่ากระดาษน้ำตาลช่วยยืดเวลาให้น้ำแข็งละลายช้าลงได้นาน มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์มาแล้ว
ชาร้อนรสละมุน ร้อนนานเพราะวางกาไว้ในถังอลูมิเนียม มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ตัวกาบุด้วยผ้านวมสีบานเย็น จนกลายเป็นถังชาสไตล์ "ไท้ย ไทย" ไปเสียแล้ว
กาแฟดำรสเข้ม หมักจนได้ที่ หาทานได้ยาก แบรนด์ อาข่า อ่ามา สั่งตรงมาจากเชียงราย ไปจนถึงเครื่องดื่มดับร้อนอื่นๆ เช่น มะพร้าวน้ำหอมพร้อมฝาเปิดในตัว หรือน้ำวุ้น น้ำเปล่าธรรมดาที่ไม่ธรรมดาด้วยกรรมวิธีการแช่ที่ทำให้น้ำเปล่ากลายเป็นวุ้นเย็นชื่นใจ
นอกจากเครื่องดื่มแล้ว ร้านของคุณก้องยังมีขนมไทยพื้นบ้านอีกหลากหลายชนิดให้เลือกชิมกันด้วย ขนมไทยมักทำจากวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ส่วนผสมหลักคือข้าวเหนียวหรือแป้งข้าวเหนียว น้ำตาล และกะทิ โดยไม่มีไข่เป็นส่วนผสมเช่นขนมของตะวันตก ขนมเหล่านี้ล้วนห่อมาในวัสดุธรรมชาติอย่าง ใบตอง ใบเตย ใบลาน ใบจาก กระบอกไม้ไผ่ หรือกระทั่งกะลามะพร้าว นับเป็นPackaging ที่นอกจากจะดีต่อตัวขนมเอง เพราะทำให้มีกลิ่นหอมชวนรับประทานแล้ว ยังดีต่อธรรมชาติ เพราะสามารถย่อยสลายได้เอง ซึ่งแสดงว่า นอกจากจะนำสิ่งรอบตัวมาใช้ได้อย่างชาญฉลาดแล้ว คนโบราณยังอยู่อย่างเคารพในธรรมชาติอีกด้วย
คาเฟ่ไทยไทยจึงเป็นต้นแบบให้กับธุรกิจของคนรุ่นใหม่ ที่นำภูมิปัญญาไทย ที่คนรุ่นใหม่อาจมองว่าเชย มาปรับลุคเปลี่ยนโฉม เกิดกันเป็นคาเฟ่ทางเลือก ที่ไม่ใช่มากแค่ผลิตภัณฑ์ แต่ยังเต็มไปด้วยเรื่องราว เป็นทางเลือกใหม่ของการประกอบการที่ไม่ซ้ำใครอีกด้วย งานนี้เจ้าของไอเดียอย่างคุณก้อง ทรงกลดยังฝากคำถามให้ทุกคนไปขบคิดกันเล่นๆ ว่า ทั้งที่ภูมิปัญญาไทยกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งไปกับการดำเนินชีวิต แล้วจริงไหมที่ "ของไทย" ต้อง "โบราณ"
สำหรับใครที่สนใจอยากไปจิบกาแฟ ลิ้มลองขนมหอมอร่อย สามารถไปใช้บริการกันได้แล้ว ที่ "คาเฟ่ไทยไทย" ในนิทรรศการ"ไทยทำ...ทำทำไม" ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2560 ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน (ข้างวัดโพธิ์) กรุงเทพฯ เปิดวันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 10.00 – 18.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 ต่อ 543 หรือเข้าไปที่ www.museumsiam.org