กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--กรมสุขภาพจิต
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2560 โดยมี นายแพทย์ธวัช สุนทรา จารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมสุขภาพจิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติสุขภาพจิต ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งให้กรมสุขภาพจิตดำเนินการตามมาตรา 77 ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการรับฟัง
ความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายสุขภาพจิต จากกลุ่มเป้าหมาย/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม กองต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคเอกชน ประชาชน ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย โดยมากกว่าร้อยละ 98 เห็นด้วยต่อร่างพระราชบัญญัติสุขภาพจิต ทั้งนี้ได้ส่งผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว
ด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ในวันนี้ เป็นการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2560 โดยได้นำเสนอที่ประชุมเพื่อพิจารณาใน 2 เรื่อง ได้แก่ การแก้ไข ร่างพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ซึ่งมีเนื้อหาสาระ ที่จะปรับแก้ในหลายประเด็น เพื่อให้เกิดความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อาทิ คำนิยามในเรื่องของสุขภาพจิต บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ซึ่งจะครอบคลุมในเรื่องของการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ข้อปฏิบัติในการนำส่งผู้ป่วยสุขภาพจิต โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การบังคับใช้ การปรับและบทลงโทษ เป็นต้น ซึ่ง ณ ตอนนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง ก่อนส่งกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยืนยันการเสนอร่างฯ และนำเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติต่อไป นอกจากนี้ ยังได้เสนอที่ประชุมฯ เพื่อพิจารณาให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมต่อร่างยุทธศาสตร์สุขภาพจิตแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์สุขภาพจิตแห่งชาติในเบื้องต้นมาก่อนแล้ว ทั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยเป็นครั้งแรกที่ได้ให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์สุขภาพจิตแห่งชาตินี้ขึ้น
ร่างยุทธศาสตร์สุขภาพจิตแห่งชาติ 20 ปี ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ที่มุ่งสู่การทำให้คนไทยมีสติปัญญาที่ดี อารมณ์ดี และมีความสุข อยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี หรือ"Smart Citizen" ที่มีความสมบูรณ์พร้อมทั้ง กาย จิต วิญญาณ และมีคุณค่าในสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 1 ได้แก่ ส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต เน้นให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ มีทัศนคติที่ดีและถูกต้องต่อปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวช ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวช ผู้ป่วยและผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงและได้รับบริการตามมาตรฐานเป็นอย่างดี ยุทธศาสตร์ที่ 3 ขับเคลื่อนและผลักดันมาตรการทางกฎหมาย สังคมและสวัสดิการ ผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองสิทธิและการดูแลอย่างสมคุณค่า สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาวิชาการและกลไกการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต ที่จะส่งเสริมให้การทำงานด้านสุขภาพจิตมีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อนำไปจัดทำแผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายภายใน 20 ปี ต่อไป อย่างไรก็ตาม จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมฯ ในวันนี้ ไปปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความสมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ก่อนนำเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ ร่างสุดท้าย เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560 ต่อไป อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว