กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--a publicist
"จิตใจมนุษย์ต่างเคยประสบกับความรู้สึกที่ดีและร้าย แต่การยึดติดอยู่กับความทรงจำเก่าๆ ฝังใจอยู่กับความรู้สึกในอดีตที่เป็นเรื่องเสียใจและหดหู่อยู่ตลอดเวลา จนทำให้หลงลืมความสุขในปัจจุบันไป จึงเสมือนการติดคุกทางความคิด" คือแนวคิดที่วนาภรณ์ เตี่ยมังกรพันธุ์ ศิลปินรุ่นใหม่จาก จ.สุราษฎร์ธานี สะท้อนออกมาผ่านผลงาน "คุกความคิด" จนได้รับมติเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงศิลปินแห่งชาติ ทั้ง 9 ท่าน คัดเลือกให้เป็นผลงานยอดเยี่ยมอันดับ 1 จากการประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ ครั้งที่ 19 ซึ่งจากภาพรวมของผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด คณะกรรมการต่างเห็นพ้องกันว่าผลงานด้านจิตรกรรมของศิลปินไทยรุ่นใหม่นั้นมีการพัฒนาทั้งรูปแบบ แนวคิด และเทคนิค ให้ทรงคุณค่าทางศิลปะ ควบคู่ไปกับพัฒนาการด้านคุณภาพและมาตรฐานที่เทียบเท่าผลงานศิลปะในระดับสากล
ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ว่า "การตัดสินงานศิลปะทุกแขนง ผมใช้หลักเกณฑ์ในความเป็นเอกภาพ ความพอเหมาะความพอเพียง แนวคิดแรงบันดาลใจ ประเด็นที่ศิลปินต้องการจะสื่อสารนั้นจะถ่ายทอดเรื่องราวด้วยเทคนิควิธีการหรือรูปแบบออกมาได้อย่างไร สามารถตอบโจทย์ได้ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ สำหรับผลงานชิ้นนี้ผมพิจารณาจากความงาม หลักคิด และการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งผลงานที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นมานี้นำเสนอเงื่อนไขทั้งสามข้อออกมาได้อย่างลงตัว สะท้อนถึงความสมบูรณ์ในชีวิตของศิลปินเอง โดยอาจจะอยู่บ้านแล้วถูกกักขัง มีชีวิตที่ไม่อิสระ แล้วนำเอาความคิดที่ไม่ได้รับอิสระเหล่านั้นมาแสดงออก โดยใช้ตุ๊กตาสัตว์วางซ้อนกับโครงสร้างคล้ายกรงขัง แต่ไม่ได้ถูกขังเต็มตัว สามารถตีความได้ว่าอาจจะมีชีวิตที่ถูกกึ่งกักขังกึ่งอิสระ วิธีคิดของศิลปินเช่นนี้ดีมาก และฝีมือการวาดตุ๊กตาขนสัตว์ก็ทำให้ได้อารมณ์ที่เป็นตุ๊กตาจริงๆ กรงเหล็กดูแข็งแรง องค์ประกอบทุกอย่างนั้นลงตัวและสื่อความหมายออกมาได้ดีทั้งหมด"
ศาสตราจารย์กิตติคุณอิทธิพล ตั้งโฉลก กล่าวว่า "สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 นั้น ได้เห็นการพัฒนาฝีมือของศิลปินคนนี้มาโดยตลอด มีการพัฒนาการนำเสนอความคิดและเป้าหมายของการสื่อสารออกมาได้ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ชนิดที่ว่าเห็นภาพแล้วไม่ต้องอ่านแนวคิดของการนำเสนอก็พอเดาได้แล้วว่าศิลปินต้องการสื่อถึงเรื่องอะไร คนทั่วไปก็น่าจะเข้าใจได้ง่าย เข้าถึงผลงานได้ดียิ่งขึ้นความโดดเด่นอันดับแรกคือเรื่อง สี แสงและเงาซึ่งทำออกมาเสมือนจริงมาก ส่วนการสื่อความหมายนั้นปกติงานศิลปะจะยากที่จะสื่อความหมายให้คนที่มองภาพเห็นภาพแล้วเข้าใจ แต่สำหรับภาพนี้เห็นแล้วรู้ทันทีว่าศิลปินต้องการสื่อสารอะไร มีการใช้สัญลักษณ์มาอธิบาย ภาพนี้ถือว่าเป็นภาพที่มีครบทั้งแนวคิด ฝีมือ มุมมอง มีครบทุกองค์ประกอบซึ่งเหมาะสมสำหรับการได้รับรางวัลดังกล่าว"
ด้าน อาจารย์ธงชัย รักปทุม ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานยอดเยี่ยมอันดับ 1 ว่า "ศิลปินถ่ายทอดภาพตุ๊กตาหมีที่ถูกจองจำ เปรียบเสมือนตัวศิลปินเองเคยได้รับการจองจำมาแล้วเกิดความเจ็บปวด และถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านั้นออกมาเป็นผลงาน ซึ่งก็ไม่ได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงความเจ็บปวดโดยตรงแต่กลับแสดงให้เห็นถึงความงดงามด้วยการใช้สีสันที่สื่อถึงอารมณ์ และใช้เส้นสายของกรงขังแสดงถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ "
อาจารย์สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ กล่าวว่า "คุกความคิด" นั้น เป็นงานที่มีคุณภาพ มีการนำเสนอแนวความคิดที่โดดเด่น และแสดงออกมาผ่านรูปแบบเชิงจิตรกรรมทางความคิด ที่วาดออกมาเสมือนจริง มีการเลือกใช้วัตถุคือตุ๊กตาหมีแทนที่จะใช้คนในการสื่อสาร ถูกคุมขังด้วยลูกกรงเหล็ก ที่ครอบบริเวณศรีษะ สะท้อนถึงความคิดและอารมณ์ที่ถูกจองจำจนทำให้ความน่ารักอ่อนหวานของความเป็นตุ๊กตาหมีนั้นสูญเสียไป"
ส่วน รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 2 จำนวนสองรางวัลได้แก่ ผลงาน "Dimension W No.1" ใช้จิตรกรรมเทคนิคผสม ของ นายเจษฎากรแดงอร่าม อายุ 27 ปี จ.สมุทรสาคร สะท้อนถึงรูปแบบการดึงดูดใจของสื่อในยุคปัจจุบันที่มีทั้งภาพเคลื่อนไหว ความสวยงามของสี ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อการตีความหมายของผู้ชม และ ผลงานสีน้ำมันผสมอะคลิลิก "สุนทรียแห่งจิตรกรรม" ของ นายณัฐพงษ์ ฤคดี อายุ 30 ปี จ.ชุมพร สื่อให้เห็นว่าผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใด ล้วนมีคุณค่าและสุนทรียประจำตัวทั้งสิ้น
รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 3 ทั้งสามรางวัล ได้แก่ ผลงาน "เด็กน้อย" ที่นำเสนอด้วยเทคนิคสีอะคลิลิกบนใยสังเคราะห์ โดยฝีมือของนายสุรเดช วัฒนาประดิษฐชัย อายุ 46 ปี จ.กาฬสินธุ์ ผลงานสีน้ำมัน "กลเรา" โดย นายนภนันท์ รังสีธรรมคุณ อายุ 22 ปี จากกรุงเทพฯ และผลงาน "นิทานธรรม" ซึ่งใช้เทคนิคสีฝุ่นโดยนายนิโรจน์ จรุงจิตวิทวัส อายุ 42 ปี จ.สุพรรณบุรี
นอกจากนี้ยังมีรางวัลดีเด่น อีกจำนวน 10 รางวัล ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับรางวัลได้ทาง www.panasonic.com/th และจะมีการจัดพิธีมอบรางวัลพร้อมงานแสดงนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 3-27 สิงหาคม2560 ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 083 634 4507