กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· "โหร – ขิก – กวัก – เสียกบาล" สี่ของขลังคู่คนไทย สุดยอดสิ่งประดิษฐ์บรรเทาทุกข์ในนิทรรศการ "ไทยทำ...ทำทำไม"
"อย่าออกจากบ้าน ถ้าจิ้งจกร้องทัก" ประโยคคุ้นหู ที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก เป็นความเชื่อที่คนรุ่นใหม่อาจนึกขัน แต่ความเชื่อที่ดูจะคร่ำครึ งมงาย และห่างไกลจากหลักการทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้ ได้กลายเป็นความเชื่อที่ฝังรากลงในสังคมไทยและมีอิทธิพลต่อแนวทางการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบันอย่างมาก ไม่นับเรื่องเล่าปากต่อปาก ตำนานลี้ลับปรัมปรา ซึ่งถูกเล่าขานต่อกันมาจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น ไปจนกระทั่งถึงเครื่องรางของขลังต่างๆ มากมายที่เรามีไว้บูชา แม้ว่าในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์จะพิสูจน์ได้แล้วว่าความเชื่อเหล่านี้เป็นเพียงแค่เรื่องงมงายไร้สาระ แต่เราก็ไม่เคยคิดที่จะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ เพราะจริงๆ แล้ว ความเชื่อและวัตถุมงคลเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คนไทยคิดขึ้นมาเพื่อจัดการกับความกลัวและขจัดความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั่นเอง พูดง่ายๆ ก็คือเป็นเสมือนตัวช่วยด้านจิตใจในยามที่ชีวิตต้องมรสุม
"มิวเซียมสยาม" ชวนทุกคนมาร่วมพิสูจน์เครื่องรางของขลังคู่คนไทย 4 ชิ้น จากงานนิทรรศการ "ไทยทำ...ทำทำไม" จะใช่หรือมั่ว ชัวร์หรือไม่! มีอะไรบ้างนั้น มาดูกัน
1) ตำราพรหมชาติ : ปัญญาโบราณ จุดหางเสือนำชีวิต
ใครใครก็ชอบดูหมอ โหราศาสตร์ดูจะเป็นเรื่องลี้ลับที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ตำราโหราศาสตร์ของไทย เราเหมารวมเรียกว่า ตำรา "พรหมชาติ" การดูพรหมชาติ เป็นวิธีการทำนายชะตาราศีบนพื้นฐานของปีเกิด เดือนเกิด และวันเกิด เป็นรูปแบบการพยากรณ์แบบหนึ่งในโหราศาสตร์ไทย ซึ่งมีความเชื่อดั้งเดิมมาจากกลุ่มไท-ลาว ผสมผสานกับความรู้ทางโหราศาสตร์ที่ได้รับจากอินเดียและจีน เมื่อมีการพิมพ์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงได้มีการรวบรวมความรู้การพยากรณ์แบบอื่นๆ เข้าไว้ในชุดเดียวกัน แล้วให้ชื่อว่า "ตำราพรหมชาติ"
ตำราพรหมชาติถูกพิมพ์อีกหลายครั้งและแพร่หลายไปยังหลายภูมิภาค มีการรวบรวมศาสตร์จากตำราพื้นบ้าน ไปจนถึงตำราหลวงรวมไว้อยู่ในเล่มเดียวกัน จนในภายหลัง คำว่า "พรหมชาติ" กลายเป็นคำรวมของตำราดูหมอไทย แทนที่จะเป็นการทำนายตามวิธีการใดเพียงวีธีการเดียว สำหรับคนในสมัยก่อนๆ การดูพรหมชาติ เปรียบเสมือนกับหางเสือที่ช่วยชี้นำเส้นทางการดำเนินชีวิต ทั้งในวันที่ดี และในวันที่ชีวิตสับสน และยังเป็นหลักยึดและช่วยปกป้องภัยอันตรายต่างๆ ที่กำลังจะเข้ามากล้ำกลายอีกด้วย
2) ปลัดขิก : กะเจี๊ยวโตเต็มวัย เอาไว้หลอกผี
เรียก ขุนเพชร คงไม่มีใครรู้จัก แต่ถ้าเป็น "ปลัดขิก" ก็คงร้องอ๋อ ขุนเพชร หรือ ปลักขิก ทำขึ้นจากไม้หรือโลหะ มีลักษณะเหมือนองคชาต จำลองย่อส่วน โดยปราศจากหนังหุ้มปลาย แต่เดิมนิยมให้เด็กอายุ 3 – 4 ขวบขึ้นไป แขวนไว้ที่บริเวณเอว ให้ห้อยลงมาอยู่ในระดับองคชาต เนื่องจากเด็กในช่วงวัยนี้ เพิ่งจะหย่านม จึงมีภูมิคุ้มกันน้อย โอกาสที่จะป่วยไข้มีมาก ตามความเชื่อโบราณเชื่อว่า ภูตผีจะมาทำให้เด็กเจ็บป่วยไม่สบาย จึงต้องหลอกผีให้เข้าใจผิดไปว่า เด็กชายนั้นไม่ใช่เด็ก แต่โตเต็มวัยสมชายชาตรี โดยมีองคชาตที่ปลายเปิดไม่มีหนังหุ้ม ภูตผีจึงไม่สามารถนำเด็กคนนั้นไปยังโลกแห่งความตายได้
ปลัดขิก หากจะให้มีความขลังยิ่งขึ้น ก็มักจะต้องผ่านการปลุกเสกอีกด้วยตามตำราโบราณ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเชื่อว่าปลัดขิกเป็นของที่ใช้สำหรับเบี่ยงความสนใจของเด็กไม่ให้เล่นอวัยวะเพศของตนเอง เพราะโดยปกติแล้ว เด็กในวัยนี้มักจะเล่นอวัยวะเพศของตนเอง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับนิสัยติดดูดนิ้ว ติดขวดนม คนโบราณจึงทำปลักขิกขึ้นมา เพื่อเป็นการแก้ไขไม่ให้เด็กติดนิสัยเล่นอวัยวะเพศของตัวเองด้วย
3) นางกวัก : เทพีบูชา งานลาภงานมงคล
หลายคนอาจจะเคยเห็น แมวกวัก เครื่องรางสไตล์ญี่ปุ่น ไทยเองก็มี แต่อยู่ในรูปหญิงสาว เรียกกันติดปากว่า "นางกวัก" แต่งกายด้วยชุดไทยสีแดงพร้อมเครื่องประดับ นั่งในท่าคุกเข่าแบบเทพธิดา ส่วนมือทำท่ายกขึ้นกวัก ตามความเชื่อเชื่อว่า นางกวักเป็นเทพีแห่งความเป็นมงคลและโชคลาภ เจ้าของธุรกิจห้างร้านจึงนิยมบูชาติดร้านกันไว้ตั้งแต่โบราณ แม้กระทั่งในปัจจุบัน ยังมีการออกแบบโดยลดทอนรูปลักษณ์ของรูปปั้นนางกวักให้โมเดิร์นเข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น โดยยังคงคอนเซ็ปต์สำหรับใช้เพื่องานลาภงานมงคลเช่นเดิม
4) ตุ๊กตาเสียกบาล : ตุ๊กตาดินเซ่น ตัวแทนบาปเคราะห์
กบาล เป็นภาษาเขมรหมายถึง หัว ตุ๊กตา "เสียกบาล" ก็คือ ตุ๊กตา "เสียหัว" นั่นเอง เป็นหุ่นดินเผาที่ปั้นขึ้นใช้ในพิธีกรรมจากความเชื่อทางไสยศาสตร์ของผู้คนในอดีต เมื่อมีคนเจ็บป่วยใกล้ตาย คนไทยในอดีตจึงหาวิธี "หลอกผี" ไม่ให้มาเอาชีวิตผู้นั้น ด้วยการปั้นตุ๊กตาดินขนาดเล็กขึ้นแทนเจ้าตัว ซึ่งจะปั้นแค่ให้เห็นเพศ และรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกับตัวคนที่จะแทน เพราะถือว่าปั้นให้ "ผี" จึงไม่ได้จำเป็นต้องออกมาประณีตสวยงามนัก แล้วจึงนำไปเสร็จพิธีเสียกบาล โดยการหักคอตุ๊กตา แล้วเอาไปทิ้งไว้ที่ทางสามแพร่งหรือลอยน้ำไป เพราะเชื่อว่าที่เหล่านี้เป็นแหล่งชุมนุมทางวิญญาณ โดยเชื่อกันว่าตุ๊กตาได้รับเคราะห์แทนไปแล้ว คน ที่ป่วยอยู่จึงไม่เป็นอะไรเสมือนเป็นการผ่องถ่ายสิ่งชั่วร้ายไปยังตุ๊กตา นับเป็นการจัดการความเจ็บป่วยโดยอาศัยวัตถุ เพื่อสื่อสารและต่อรองกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ในยุคที่วิทยาการด้านการแพทย์ยังไม่อาจเยียวยาผู้ป่วยให้หายได้
สิ่งประดิษฐ์ทางความเชื่อทั้งสี่นี้ สะท้อนความเชื่อแบบไทยไทย ที่ถึงแม้เราจะนับถือพุทธ แต่ความเชื่อเรื่องผี และสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ก็ยังเป็นหลักยึดให้กับคนไทยในยามที่เราเกิดทุกข์ และต้องการสิ่งบรรเทาด้วยจิตใจ มิวเซียมสยาม เปิดโอกาสให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์ และศึกษาเพิ่มเติมได้แล้วในงานนิทรรศการ "ไทยทำ...ทำทำไม" ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2560 วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน (ข้างวัดโพธิ์) กรุงเทพฯ เข้าชมฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 ต่อ 543 หรือเข้าไปที่ www.museumsiam.org