กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รัฐมนตรีเกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ "5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง" จ.กำแพงเพชร น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนเกษตรทฤษฎีใหม่ 70,000 ราย พร้อมโชว์ผลสำเร็จ เกษตรกรสามารถบริหารจัดการดิน-น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความเข้มแข็งในรูปแบบสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ตำบลเกาะตาล อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร โอกาสนี้ ได้ตรวจเยี่ยมแปลงเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ "5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง" ของนายสวิง บุญปั่น และนางทองคำ กุลมาลา (cell ต้นกำเนิด) จากนั้นเดินทางไปยังสหกรณ์การเกษตรขาณุวรลักษบุรี ตำบลสลกบาตร อำเภอขาณุวรลักษบุรี โดยได้รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร ก่อนพบปะเกษตรกรในพื้นที่
พลเอกฉัตรชัย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการ "5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง" เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเผยแพร่พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดทั้งเป็นการเผยแพร่แนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ไปสู่สาธารณชน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความสมัครใจจาก 882 อำเภอ รวม70,000 ราย ได้น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกร โดยมุ่งหวังจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ อันเกิดจากการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยการสร้างอาชีพอย่างเหมาะสมกับทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ซึ่งแนวทางการดำเนินงานได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ เกษตรกรกลุ่มพร้อมมาก (Cell ต้นกำเนิด) 21,000 ราย ดำเนินการช่วงเดือน ก.พ. - เม.ย. 60เกษตรกรกลุ่มพร้อมปานกลาง (Cell แตกตัว ครั้งที่ 1) 42,000 ราย ดำเนินการช่วงเดือน พ.ค. - ก.ย. 60 และเกษตรกรกลุ่มพร้อม (Cellแตกตัว ครั้งที่ 2) 7,000 ราย ดำเนินการช่วงเดือน ต.ค. – ธ.ค. 60
ปัจจุบันมีเกษตรกรที่มีความพร้อมและเข้าร่วมโครงการแล้ว 70,000 ราย (ข้อมูล ณ พ.ค. 60) แบ่งเป็น 1. ส่งเสริมองค์ความรู้เชิงปฏิบัติการแล้ว 70,000 ราย 2. สนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อการพึ่งพาตนเองเบื้องต้นแล้ว 70,000 ราย 3. จัดพบปะ 5 ประสาน ประกอบด้วย เกษตรกร ปราชญ์เกษตร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ 77 จังหวัด 4. ปรับแนวคิด สร้างแรงบันดาลใจ รวม 62,296 ราย 5. เกษตรกรจัดทำแผนการผลิตอย่างง่าย รวม 44,918 ราย และ 6. การติดตามเยี่ยมเยียนเกษตรกร โดยหน่วยงานภาครัฐ ปราชญ์เกษตร ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา รวม 39,961 ราย
สำหรับการดำเนินโครงการฯ ใน จ.กำแพงเพชร มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 758 ราย โดยแบ่งเป็น กลุ่มพร้อมมาก 227ราย กลุ่มพร้อมปานกลาง 455 ราย และกลุ่มพร้อม 76 ราย ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบ อีกทั้งร่วมมือกับภาคประชารัฐ ได้แก่ ไทยเบฟเวอเรจเบทาโกร และสยามคูโบต้า ตลอดจนภาคสถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชร และสำนักงาน กศน. รวมทั้งมีปราชญ์เกษตรและเกษตรกรต้นแบบรวม 41 ราย โดยดำเนินการติดตามเยี่ยมเยียนเกษตรกร 2 ช่วง คือ กลุ่มพร้อมมาก 227 ราย ระหว่างวันที่ 9 - 29 มี.ค. 60 และกลุ่มพร้อมปานกลาง 455 ราย ระหว่างวันที่ 24 เม.ย. – 23 พ.ค. 60
"ผลจากการติดตามเยี่ยมเยียนเกษตรกรพบว่า เกษตรกรนำเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน เช่น การบริหารจัดการดินและน้ำเพื่อประโยชน์สูงสุดในการผลิตที่พออยู่พอกิน สามารถพึ่งตนเองได้ โดยวิเคราะห์ปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมกับการผลิต วิเคราะห์ปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูก วางแผนการผลิตพืช ปศุสัตว์ เพื่อบริโภคในครัวเรือนและประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร รวมถึงวางแผนรายรับและรายจ่ายเพื่อให้เกิดความสมดุล พอเพียง และมีเงิน ตลอดจนการรวมพลังในรูปแบบกลุ่มหรือสหกรณ์ โดยสร้างความเข้มแข็งส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่ม เพื่อรวบรวมผลผลิตประเภทต่าง ๆ มาจำหน่าย และภาคเอกชนจะเข้ามาประสานต่อยอดนำผลผลิตไปกระจายสู่ท้องตลาดอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ มาปรับใช้ในการดำรงชีวิตจะเป็นต้นทางของการพัฒนาประเทศที่เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป" พลเอกฉัตรชัย กล่าว
ทั้งนี้ กลไกการทำงานของ 5 ประสาน ประกอบด้วย 1) เกษตรกร (Cell ต้นกำเนิด) พบปะปราชญ์/เกษตรกรต้นแบบ/ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจจากภายในและวางแผนการผลิต เกษตรกรลงมือทำในพื้นที่ของตน เก็บเกี่ยวผลผลิตกิน เหลือจำหน่าย เก็บรายได้ พร้อมทำบัญชีฟาร์ม ขยายผลสู่เกษตรทฤษฎีใหม่เต็มรูปแบบ 2) ปราชญ์เกษตรหรือเกษตรกรต้นแบบหรือประธาน ศพก. สร้างแรงบันดาลใจ แนะนำ ช่วยเหลือ สร้างเกษตรกรต้นกำเนิด และสร้างทายาทเกษตรกร 3) เจ้าหน้าที่เกษตร จัดกลุ่มเกษตรกรตามความพร้อม คัดเลือกปราชญ์เกษตรหรือเกษตรกรต้นแบบ เพื่อเป็นเพื่อนช่วยเพื่อน เพิ่มพูนองค์ความรู้แก่เกษตรกร แนะนำเกษตรกรทำบัญชีครัวเรือน/บัญชีฟาร์ม ประสานขอรับการสนับสนุนตามแผนการผลิตของเกษตรกรติดตาม ประมวลผล และรายงานความก้าวหน้าจัดหาตลาด 4) ภาคเอกชน สนับสนุนให้เทคนิค/วิชาการ ปัจจัยการผลิต ทุนทรัพย์สำหรับตอบแทนปราชญ์/ทุนเริ่มต้นสำหรับเกษตรกรตามความจำเป็นจัดหาตลาดเพื่อเกษตรกร และ 5) ภาคการศึกษา สนับสนุนให้เทคนิค/วิชาการ นักศึกษาเป็นลูกมือปราชญ์ฝึกงานในแปลงเกษตรกร