กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--กระทรวงพลังงาน
สำนักงานพลังงานจังหวัดพิษณุโลก กระทรวงพลังงาน ส่งเสริม 20 ชุมชนในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง นครไทย วังทอง บางกระทุ่ม ชาติตระการ พรหมพิราม บางระกำ เนินมะปรางค์ และวัดโบสถ์ ใช้เทคโนโลยี ก๊าซชีวภาพ เปลี่ยนของเสียเป็นพลังงานทดแทน ลดการใช้ก๊าซ LPG ประหยัดค่าใช้จ่าย สร้างความมั่นคงด้านพลังงานและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน
นายตามเฉลิมฬ์ จันทนาคร พลังงานจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 แผนบูรณาการพลังงานระยะยาวของกระทรวงพลังงาน ที่มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในประเทศให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ในปลายแผน หรือ ในปี 2579
ซึ่งหนึ่งในพลังงานทดแทนที่กระทรวงพลังงานให้การส่งเสริมก็คือการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ สำนักงานพลังงานจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน จึงได้นำนโยบายของกระทรวงพลังงานมาขยายผลในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ภายใต้โครงการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนในชุมชน งบประมาณโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2558 จำนวน 1,250,000 บาท ในการสนับสนุนเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ขนาด 8 ลูกบาศก์เมตร ให้กับ 20 ชุมชน ในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง นครไทย วังทอง บางกระทุ่ม ชาติตระการ พรหมพิราม บางระกำ เนินมะปราง และวัดโบสถ์
โดยได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของทรัพยากรในพื้นที่ เนื่องจากชุมชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าวประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีตั้งแต่ขนาดครัวเรือนไปจนถึงฟาร์มขนาดเล็ก ทำให้สามารถนำมูลสัตว์และของเสียมาเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้มด้วยเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนหันมาใช้พลังงานทดแทน แทนการใช้ก๊าซ LPG สำหรับการหุงต้มในครัวเรือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงานในครัวเรือนลงได้ 80 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ชุมชนมีการใช้ก๊าซ LPG เฉลี่ย 1 ถัง (ขนาด 15 กิโลกรัม) ต่อ 3 เดือน ปัจจุบันหลังจากที่มีการใช้ก๊าซชีวภาพร่วมด้วยทำให้การใช้ก๊าซ LPG ลดลงเหลือเพียง 5 เดือนต่อ 1 ถัง หรือเสียค่าใช้จ่ายก๊าซ LPG เพียง 80 บาทต่อเดือนเท่านั้น รวมถึงยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากกลิ่นเหม็นของมูลสัตว์และแมลงต่างๆ ให้กับชุมชนได้อีกด้วย
พลังงานจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า นอกเหนือจากการสนับสนุนเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพแล้ว ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดพิษณุโลก ยังได้จัดทำโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการติดตั้งและบำรุงรักษาบ่อหมักก๊าซชีวภาพแบบ PVC ขนาด 8 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 197 บ่อ ให้กับชุมชนในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง นครไทย วังทอง บางกระทุ่ม ชาติตระการ พรหมพิราม และบางระกำ ภายใต้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 279,000 บาท ปี 2558โดยมีการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ต่อยอดไปสู่การนำไปประยุต์ใช้กับชุมชนในท้องถิ่นตนเองต่อไป
ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชีวภาพ และหลักสูตรการฝึกอบรมการติดตั้งและบำรุงรักษาบ่อหมักก๊าซชีวภาพแบบ PVC ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การเป็นโครงการต้นแบบก๊าซชีวภาพและศูนย์การเรียนรู้การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ เพื่อให้ชุมชนผลักดันแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานทดแทนในชุมชน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน