กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--Social Change Thailand
พร้อมส่งตัวแทนนักปกป้องสิทธิผู้หญิงจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย และ สกต.เข้าร่วมประชุม ชวนติดตามการรายงานการประชุมผ่านเฟสบุ๊ค "จากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุมcedaw" ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
สืบเนื่องจากวันที่ 5 ก.ค.ที่จะถึงนี้ รัฐบาลไทยจะต้องเข้าร่วมรายงานสถานการณ์ของผู้หญิงในประเทศไทย ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือเรียกสั้นๆว่า CEDAW ซึ่งเป็นสัญญาเพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่มุ่งเน้นสิทธิสตรี รวมถึงประเด็นต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชน ของสตรีทั่วโลก และยังเป็นหนึ่งในสนธิสัญญาแห่งสหประชาชาติ ที่รัฐภาคีให้สัตยบรรณเป็นวงกว้างที่สุดทั่วโลก
ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทย ได้เป็นภาคี เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2528 และมีผลบังคับใช้กับไทย เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2528 และนอกจากรัฐบาลไทยที่จะต้องเข้าร่วมรายงานสถานการณ์ในครั้งนี้ องค์กร Protection international (PI) FIDH และสมาคมผู้หญิงกฎหมายและการพัฒนาแห่งเอเซียแปซิฟิกAPWLD ยังได้จัดทำรายงานสถานการณ์ของภาคประชาสังคมเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้หญิงที่ถูกละเมิดสิทธิภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้ในประเทศไทยอีกด้วย และได้นำเชิญผู้หญิงจากสองเครือข่าย ได้แก่ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย และตัวแทนผู้หญิงจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ที่ถูกละเมิดสิทธิ จากการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง และการเข้าไม่ถึงสิทธิในที่ดินทำกินไปร่วมติดตามการประชุมและร่วมรายงานถึงสถานการณ์ของผู้หญิงในประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้ด้วย
น.ส.ปราณม สมวงศ์ ตัวแทนจาก องค์กร Protection international (PI) กล่าวว่า ในอนุสัญญา CEDAW มีหลักการสำคัญ 3 ประการคือ1.ความเสมอภาคเชิงเนื้อหา หรือความเสมอภาคเชิงผลลัพธ์ 2.การไม่เลือกปฏิบัติ และ 3.พันธกรณีที่รัฐต้องปฏิบัติตาม ซึ่งหลักการทั้งสามประการนี้ เน้นย้ำว่า ความเสมอภาคจะต้องเกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มิใช่เฉพาะ "บนกระดาษ" การมีเพียงกฎหมายและนโยบายยังไม่เพียงพอ หากผู้หญิง ยังไม่ได้รับความเสมอภาคในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้อนุสัญญา CEDAW มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมการส่งเสริม การคุ้มครอง และการทำให้สิทธิมนุษยชนของผู้หญิงเป็นจริง โดยอนุสัญญานี้ ผูกพันรัฐให้ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบโดยไม่ชักช้าและโดยทุกวิถีทางที่เหมาะ สม รวมทั้งในการตรากฎหมายด้วย
อย่างไรก็ตามแม้อนุสัญญา CEDAW จะมีข้อผูกพันที่รัฐไทยต้องดำเนินการ แต่การเลือกปฏิบัติในทุกด้าน ยังคงเกิดขึ้น รวมทั้งด้านนโยบายกฎหมายด้วย กฎหมายที่เลือกปฏิบัติยังคงจำกัด ห้าม หรือไม่รับรองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง และ ยังคงปล่อยให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น กฎหมายเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงไม่ได้ใช้สิทธิมนุษยชนของตนและไม่ได้พัฒนา ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่พวกเธอยังตกภายใต้การข่มขุ่คุกคาม ในการประชุมในครั้งนี้เราได้จัดทำรายงานคู่ขนานกับรัฐไทยเรื่องสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและข้อสเนอแนะต่อรัฐไทย จึงอยากเชิญชวนร่วมติดตามการประชุมในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด และอยากเชิญชวนเป็นส่งกำลังใจให้กับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทั้ง 2 ท่านที่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
ทั้งนี้ PI ได้จัดทำเพจแฟสบุ๊คชื่อ "จากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุมcedaw" โดยประชาชนสามารถติดตามการรายงานข่าวสารการเข้าร่วมประชุม 2 ตัวแทนนักสิทธิผู้หญิงจากประเทศไทยได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป