กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบผันผวนขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปลดลงทุกชนิดโดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 1.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 14 ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 765 แท่น
· รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติแผนการสำรวจแหล่งผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งอลาสกา ของบริษัท Eni U.S. ตามคำสั่งบริหาร American-First Offshore Energy Strategy ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump
· รายงานประจำเดือน ก.ค. 60 ของ OPEC ระบุปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC เดือน มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 393,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 32.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน (คิดเป็นระดับความร่วมมือลดปริมาณการผลิต 96% ลดลงจากเดือน พ.ค. 60 ที่ 110%) และ คาดการณ์ในปี พ.ศ. 2561 ความต้องการน้ำมันดิบจากกลุ่มOPEC (Call on OPEC) ลดลงจากปีก่อน 60,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 32.20 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจาก Non-OPEC เพิ่มขึ้น 1.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 58.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· Reuters รายงานผู้ผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ระดมทุนสำหรับผลิตน้ำมันดิบโดยใช้การขุดเจาะร่วม (Drilling Joint Venture) ที่ให้นักลงทุนร่วมทุนกับบริษัทขุดเจาะ Shale Oil ซึ่งนักลงทุนจะได้ผลตอบแทน 15% ของเงินลงทุน เมื่อถึงจุดดังกล่าวผลตอบแทนของนักลงทุนจะลดลงเหลือ 10% ของกำไรจากการขุดเจาะ ส่วนที่เหลือจะเป็นของบริษัทผู้ผลิต ทั้งนี้ บริษัท EOG ผู้ผลิต Shale Oil รายใหญ่ ได้รับเงินทุนมูลค่ากว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากวิธีดังกล่าวเพื่อขุดเจาะในรัฐ Oklahoma ช่วยลดภาระทางการเงินของบริษัท
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 7 ก.ค. 60 ลดลง 7.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 495.4 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ลดลงมากกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์ไว้ที่ 2.9 ล้านบาร์เรล
· EIA ปรับลดประมาณการปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปี พ.ศ. 2561 มาอยู่ที่ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เปลี่ยนแปลงจากเดิมซึ่งคาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้น 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อให้สอดคล้องกับประมาณการราคาน้ำมันดิบปีหน้าซึ่ง EIA ปรับคาดการณ์ราคา ICE Brent ลงจากเดิม 4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
· Euroilstock รายงานปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในยุโรป เดือน มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.6 % มาอยู่ที่ 10.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ปริมาณสำรองน้ำมันสำเร็จรูปกลับลดลง เนื่องจากส่งออกไปเอเชียและตะวันออกกลางมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบWTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 29,596 สัญญา มาอยู่ที่ 202,404 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ ICE Brent ปรับลดลงเพราะปริมาณการผลิตน้ำมันดิบยังคงกดดันราคาน้ำมันอยู่จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 765 แท่น อย่างไรก็ตามบริษัท Shell Petroleum Development Co. ของประเทศไนจีเรียยุติการส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เนื่องจากท่อขนส่งน้ำมันดิบ Nembe Creek หยุดการดำเนินงานและต้องประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านพื้นฐานปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกเติบโตได้ดี โดย IEA ปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการน้ำมันดิบในปีนี้เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเติบโต 1.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ในระดับ 98 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 46.0-51.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 44.0-49.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 44.5-49.5เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับลดลงจาก Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินของอินเดีย เดือน มิ.ย. 60 ลดลงจากปีก่อน 12% อยู่ที่ระดับ 513,000 บาร์เรลต่อวัน และ Bloombergรายงานเคนยามีแผนนำเข้าน้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันอากาศยาน เดือน ก.ย. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 774,000บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 3.8 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองLight Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.89 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.65 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.1 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57.0-62.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับลดลงจาก โรงกลั่น Bathinda ของบริษัท HPCL-Mittal Energy ในรัฐปัญจาบ ประเทศอินเดียจะกลับมาเดินเครื่องในวันที่ 20 ก.ค. 60 หลังจากปิดซ่อมบำรุง ตั้งแต่ 30 เม.ย. 60 เพื่อเพิ่มกำลังการกลั่นจาก 180,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 230,000 บาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรอง (IES) รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.72 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ก.ค. 60 ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ระดับ 9.5 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56.0-61.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล