กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--โฟร์พีแอดส์ (96)
ชาวพะเยาเจ๋ง!!! ไม่เป็นแชมป์จังหวัดดื่มมากสุดสำเร็จ สสส.-สคล. หนุนการทำงานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มุ่งเป้าหมายคนพะเยา ลด ละ เลิก สุรา มีสุขภาวะดี ประกาศใช้ 5 ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาเร่งด่วน งานศพปลอดเหล้า 84% แหล่งท่องเที่ยว "กว๊านพะเยา" ลดขาย ดื่ม สุราได้ 90% เน้นมาตรการชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมป้องกัน-ปราบปราม
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 นายประจญ ปรัชญ์สกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานเปิดกิจกรรม "วันงดสุราแห่งชาติ จังหวัดพะเยาประจำปี 2560" กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายจังหวัด ปี 2554 ระบุว่า จ.พะเยามีประชากรดื่มสุรามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ทำให้เกิดกระแสความตื่นตัว มีการขับเคลื่อนกิจกรรมลดการดื่มสุราในพื้นที่ โดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จังหวัดพะเยาขึ้นในปี 2557 และกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน มีเป้าหมายหลักคือพะเยาไม่เป็นจังหวัดที่มีผู้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับ 1 โดยกำหนดยุทธศาสตร์การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.สร้างคณะทำงานและเครือข่ายทุกระดับ เชื่อมต่อคณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด 2.สร้างทีมวิทยากรกระบวนการแก้ไขปัญหา 3.พัฒนาทีมสื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุเชิงสร้างสรรค์สังคม 4.ควบคุมการผลิตจำหน่ายสุราชุมชน สุราเถื่อน จัดโซนนิ่ง มีมาตรการภาษี และกำหนดพื้นที่ปลอดเหล้ามากขึ้น และ 5.พัฒนาชุมชนให้เกิดเครือข่ายเข้มแข็งลดปัจจัยเสี่ยง แลกเปลี่ยนและคัดเลือกคนต้นแบบ หมู่บ้านต้นแบบ และส่งเสริมการศึกษาวิจัยในพื้นที่
ด้านดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายหลังร่วมกิจกรรม "วันงดสุราแห่งชาติ จังหวัดพะเยาประจำปี 2560" ว่า สสส. มีหน้าที่ "บริหารเงินกองทุน" ที่ได้จากภาษีสรรพสามิตสินค้าบุหรี่และสุรา นำมา "สนับสนุน" ให้ภาคีทุกภาคส่วนของประเทศไทย "ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ" อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นพันธกิจหลักประการหนึ่งของ สสส. เนื่องด้วยเงินกองทุนที่ สสส. นำมาทำงานมาจากภาษีสินค้าสุราโดยตรง อีกทั้งการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบมากมาย ต่อทั้งตัวผู้ดื่มเอง ต่อคนในครอบครัว และ ต่อสังคมโดยรวม เช่น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดโรคมากกว่า 200 โรค อาทิเช่น โรคตับแข็ง โรคมะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคจิตจากการดื่มสุรา เป็นต้น ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่ดื่มสุรามีโอกาสเกิดความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าครอบครัวที่ไม่มีพ่อหรือแม่ดื่มสุราถึงสี่เท่า เยาวชนในสถานพินิจถึงร้อยละ 40 ยอมรับว่าก่ออาชญากรรมภายใน 5 ชั่วโมงหลังดื่มสุรา เป็นต้น
"จากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2554 พบว่า จ.พะเยามีสัดส่วนของผู้ดื่มสุราสูงที่สุดในประเทศไทย สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้องคาพยพทุกภาคส่วนใน จ.พะเยา ได้ลุกขึ้นร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการดื่มสุราอย่างจริงจังและได้ลงมือทำจนประสบความสำเร็จ พร้อมเกิดนวัตกรรมการแก้ไขปัญหามากมาย เช่น การแก้ไขปัญหาสุราเถื่อนในจังหวัด สสส. มีความยินดีที่มีส่วนในการสนับสนุนให้องคาพยพต่างๆ ในจ.พะเยาดำเนินการแก้ไขปัญหาการดื่มสุราในจังหวัด ต้องขอขอบคุณสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบนที่เป็นแรงสนับสนุนภาคี จ.พะเยาอย่างแข็งขัน และ ต้องขอชื่นชมความคิดสร้างสรรค์และความจริงจังของชาวจังหวัดพะเยาทุกภาคส่วนที่ร่วมกันดำเนินการจนประสบความสำเร็จ ทำให้ จ.พะเยาเป็นหนึ่งในจังหวัดต้นแบบของการจัดการแก้ไขปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม" รองผจก. กองทุน สสส. กล่าว
ด้านว่าที่ร้อยตรีสมัย คำชมพู ปลัดจังหวัดพะเยา และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จ.พะเยา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จ.พะเยา หรือที่เรียกว่า "พะเยาโมเดล" ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ดังนี้ งานศพปลอดเหล้า 84%, โรงกลั่นสุราลดลง 32% (จากเดิม 270 โรง ปี 2557 ที่ศูนย์เริ่มดำเนินงาน มีอยู่ 235 โรง ปัจจุบัน เหลือ 160 โรง), กว๊านพะเยาปลอดเหล้า 90%, เกิดชมรม คนเลิกเหล้า โดยมีนายวิศิษฐ์ ทวีสิงห์ นายอำเภอเมืองพะเยา เป็นประธาน ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 1,769 คน, มีบุคคล ต้นแบบ"คนหัวใจเพชร" จำนวน 250 คน การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของคณะทำงาน จ.พะเยา พบว่าในปี 2558 จากการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน(จปฐ.) ของสำนักงานพัฒนาชุมชน ในหัวข้อคนในครัวเรือนไม่ดื่มสุรา (ยกเว้นการดื่มเป็นครั้งคราว) จ.พะเยา อยู่ในอันดับที่ 25 ของประเทศ
นางสาวอรุณี ชำนาญยา ประธานเครือข่ายประชาคมงดเหล้าจังหวัดพะเยา กล่าวว่าในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภาคประชาชนนั้นได้ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย จัดทำยุทธศาสตร์จังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์ของ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และในส่วนของจังหวัดพะเยา ได้มีการเสนอจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการโดยคำสั่งแต่งตั้งของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนกิจกรรมการแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์ร่วมกับภาคประชาสังคม ซึ่งการแก้ปัญหาเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งมีการลงนามข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในชุมชน สร้างภูมิคุ้มกันในครอบครัว และในกลุ่มเยาวชน
"สิ่งสำคัญที่ภาคประชาสังคมให้ความสำคัญคือ การร่วมรับฟังความคิดเห็นในเวทีต่าง ๆ ซึ่งทำให้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ที่ชุมชนไม่สามารถจัดการเองได้ เช่น กรณีปัญหาการบริโภคสุราเถื่อน ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ ครอบครัว ชุมชน และทวีความรุนแรงมากขึ้น ในเวทีต่าง ๆ ได้เสนอให้มีการยุบโรงกลั่นสุราชุมชน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหา ทั้งนี้ภาคประชาสังคม ถือเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมประสานงานให้เกิดการแก้ไขปัญหาของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น" นางสาวอรุณีกล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีพิธีมอบโล่และเกียรติบัตร หมู่บ้านต้นแบบลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 9 หมู่บ้าน, งานแต่งปลอดเหล้า 5 งาน, ชมรมคนปลอดเหล้า 1,769 คน และบุคคล/องค์กรดีเด่นขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดพะเยา 10 คน/องค์กร อีกด้วย