กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--โฟร์พีแอดส์ (96)
"บ้านสันกว๊าน" ต.บ้านตุ่น จ.พะเยา "รางวัลชนะเลิศ หมู่บ้าน ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จ.พะเยา ปี 2558 "อีกหนึ่งความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ สสส. ยกให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบปลอดเหล้า ทั้งงานศพ งานแต่ง งานบุญประเพณี กฐิน ผ้าป่า ทุกงานในพื้นที่ปลอดแอลกอฮอล์
นายวิศิษฐ์ ทวีสิงห์ นายอำเภอเมืองพะเยา กล่าวภายหลังพาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมหมู่บ้านต้นแบบ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ "บ้านสันกว๊าน" ตำบลบ้านตุ่น อ.เมืองพะเยาซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ และการประกาศเป็นหมู่บ้านต้นแบบระดับจังหวัดในการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อปี 2558ที่ผ่านมาว่าบ้านสันกว๊าน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 145 ครัวเรือน ประชากร506 คน แยกเป็นหญิง 246 คน ชาย 260 คน ชาวบ้านที่ดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่อายุ ระหว่าง 36 – 65 ปี ซึ่งประกอบอาชีพ เกษตรกร และ รับจ้าง คิดเป็นร้อยละ 70 เหตุผลในการดื่มส่วนใหญ่ดื่มฉลองตามเทศกาล งานบุญ หลังเลิกงาน (แก้เอว) ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ 1.ปัญหาความไม่สงบจากการพนันร่วม ทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ 2.ปัญหาค่าใช้จ่ายในการจัดงานต่างๆ ทำให้มีหนี้สินเมื่อจัดงานเสร็จ 3.เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็ง การดำเนินงานของหมู่บ้านใช้หลัก 3 ก. คือ กรรมการ กิจกรรม กองทุน ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของบ้านสันกว๊านในการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสามารถพัฒนาจนได้เป็นต้นแบบ คือ มีผู้นำที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดี มีนโยบายระดับจังหวัด อำเภอ ลงสู่ตำบลและหมู่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นและท้องที่ให้ความสำคัญขับเคลื่อนไปทั้งตำบล ประชาชนมีส่วนร่วมในเวทีประชาคมในหมู่บ้าน ประมาณ ร้อยละ 80
"ผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการทำงาน คือ 1.เกิดหมู่บ้านต้นแบบปอลดเหล้า 9 หมู่บ้าน ใน 9 อำเภอ โดย "บ้านสันกว๊าน" ต.บ้านตุ่น อ.เมือง ได้รับรางวัลชนะเลิศ หมู่บ้าน ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จังหวัดพะเยาในปี 2558 ของสสส. 2.อัตราการดื่มของคนในหมู่บ้าน ลดลงจากร้อยละ 70 เหลือ ร้อยละ 10 จากเดิมหมู่บ้านสันกว๊าน มีซื้อสุราราว 370,000 – 500,000 บาทต่อปี หลังจากรณรงค์หมู่บ้านปลอดเหล้าไม่มีค่าใช้ค่าเหล้าอีกเลย 3.มีบุคคลต้นแบบ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 9 คน 5 ครอบครัว 4.มีร้านค้าต้นแบบปลอดเหล้า 4 ร้าน และ 5.เป็นแหล่งเรียนรู้ หมู่บ้านต้นแบบ ลด ละ เลิก การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จ.พะเยา และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ" นายอำเภอเมืองพะเยา กล่าว
นายธีระ วัชระปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบนเป็นองค์กรเชิงกลไกการขับเคลื่อนงานระดับภูมิภาค เกิดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์การทำงานของ สสส. และ สคล. เพื่อแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์ โดยการจัดการความรู้ หนุนเสริมพัฒนาศักยภาพเครือข่ายประชาสังคมงดเหล้า กลุ่มภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด เป็นการทำงานมุ่งเน้นในการประสานความร่วมมือเครือข่ายในพื้นที่ จากการทำงานบนฐานบทเรียนองค์ความรู้ ข้อค้นพบรวมถึงข้อมูลเชิงประจักษ์ และการผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ ซึ่งสนับสนุนการจัดการความรู้และพัฒนานโยบายรวมทั้งสนับสนุนการสร้างบุคคล หมู่บ้านต้นแบบ อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดหมู่บ้านต้นแบบ 9 หมู่บ้าน ใน 9 อำเภอ และมีผู้นำเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งบ้านสันกว้าน ต.บ้านตุ่น อำเภอเมือง จ.พะเยา ถือเป็น 1 ใน 9 หมู่บ้านต้นแบบ ที่มีการบูรณาการ การทำงานร่วมกันทั้งภาคประชาชน เครือข่ายองค์กรงดเหล้า องค์กรปกครองส่วน ทำให้การแก้ไขปัญหาการดื่มสุรามีความยั่งยืน สามารถเป็นต้นแบบเรียนรู้ของชุมชนอื่น ซึ่งถือเป็นต้นทุนทางสังคมสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว
นายรัฐวุฒิชัย ใจกล้า นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)บ้านตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา กล่าวในอดีตเป็นคนดื่มหนักตั้งแต่วัยรุ่น จนกระทั่งมาเป็นครูใหญ่ เป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัด ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัด พอดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง มีการดื่มเขาสังคมบ้าง แต่ไม่มาก เนื่องจากต้องการภาพลักษณ์ของการเป็นครูที่ดี ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียน และชาวบ้านในพื้นที่ จึงเริ่มมีแนวคิดเลิกดื่มเหล้า และเลิกดื่มได้สำเร็จเมื่อมาเป็นนายก อบต. บ้านตุ่น ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับ สสส. และสคล. เข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนงานชุมชนปลอดเหล้าอย่างจริงจังทั้งงานศพ งานประเพณี งานเลี้ยงฉลอง ไม่มีการใช้เหล้าหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ โดยหันมาเชิญชวนใช้น้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้ น้ำดื่มสมุนไพรทดแทน นอกจากนี้ยังร่วมกับคณะสงฆ์ กำนันผู้ใหญ่ พระสงฆ์ ประชุมทำ MOU ร่วมกันเพิ่มความเข้มข้นในพื้นที่โดยจะเริ่มจากงานศพต้องปลอดเหล้า เบียร์อย่างเด็ดขาด ปัจจุบันใน อบต. บ้านตุ่น ขับเคลื่อนงานปลอดเหล้าครบทั้ง 20 หมู่บ้าน
นายชาติชาย อุปแก้ว ผู้ใหญ่บ้านสันกว๊าน หมู่ 8 ต.บ้านตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา อายุ 55 ปี กล่าวว่า ตัดสินใจที่จะเลิกดื่มเหล้าเนื่องจากต้องการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกชาย ปัจจุบันในครอบครัวไม่มีใครดื่มเหล้าเมื่ออายุ 40 ปี ได้อาสามาเป็นผู้ใหญ่บ้านเห็นวิถีชีวิตของชุมชนเอาแต่เหล้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มีการตั้งกองทุนเหล้า หรือ ฌาปนกิจสงเคราะห์ มาตั้งแต่ปี 2533 เก็บคนละ 30 บาท นำเงินมาซื้อเหล้าเลี้ยงแขกในงานศพ ทำให้ค่านิยมถูกฝังแน่นมากยิ่งขึ้น จึงได้หาแนวร่วมเพื่อยกเลิกกองทุน เปลี่ยนเป็น "กองทุนดอกไม้สำหรับงานศพ" ได้ในปี2543 จากการจัดประชาคมหมู่บ้าน ช่วยลดรายจ่ายเรื่องค่าดอกไม้ของเจ้าภาพ ทำให้เจ้าภาพมีเงินเหลือ นอกจากนี้ได้ขยายผลงานบุญ งานผ้าป่า งานกฐิน ให้ปลอดเหล้า จึงเป็นหมู่บ้านปลอดเหล้า 100 % มาตรการที่สำคัญ คือ ถ้างานไหนเอาเหล้ามาเลี้ยง ผู้นำชุมชนจะไม่เข้าร่วม ซึ่งเป็นเป็นมติชุมชน เพราะส่วนใหญ่ ผู้นำชุมชนจะมีบทบาทไปช่วย ทอดผ้า เป็นพิธีกร เอื้ออำนวยความสะดวกจัดงานให้
"สำหรับเข้าพรรษา ปี 2560 หมู่ 8 ได้มีการรณรงค์ ให้ชาวบ้านตั้งใจทำความดีถวายในหลวง ร.9 ในสโลแกน "ใจต้องแข็งกว่าคอ" ซึ่งฝันที่อยากให้ชุมชนเป็นชุมที่สงบ ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดี ไม่มีอาชญากรรม ในชุมชนและที่สำคัญอยากให้พะเยาลงจากที่ 1 ของจังหวัดดื่มมากที่สุดระดับประเทศ แม้จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆก็ตาม" ผู้ใหญ่บ้านกล่าว