กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
ราชอาณาจักรไทยมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่าที่สามารถสืบค้นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งของราชธานี ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน นับแต่กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ ตราบนานถึงทุกวันนี้ กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุถึง 235 ปี
กระทรวงวัฒนธรรม สนองนโยบายของรัฐบาลในการสร้างเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ อันเนื่องด้วยสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ให้สอดคล้องกับภารกิจหลักด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งการอนุรักษ์ สืบทอด ส่งเสริม และเผยแพร่นานาศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้คนไทยเกิดความสำนึก หวงแหนและภาคภูมิใจในความเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมสืบทอดมายาวนาน
ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับ โครงการเสริมสร้างความรู้กรุงรัตนโกสินทร์ และพระมหากรุณาธิคุณบูรพมหากษัตริย์ ที่กระทรวงวัฒนธรรม จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์และ พระมหากรุณาธิคุณบูรพมหากษัตริย์ไทย ให้คณะครู อาจารย์ของโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นครู แกนนำไปถ่ายทอดให้ลูกศิษย์
ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดงานมหกรรมวัฒนธรรม "ใต้ร่มพระบารมี 235 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยโครงการเสริมสร้างความรู้กรุงรัตนโกสินทร์ และพระมหากรุณาธิคุณบูรพมหากษัตริย์ เป็นการขยายผลการดำเนินงานสร้างความรู้เกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์และพระมหากรุณาธิคุณบูรพมหากษัตริย์ไทย แก่นักเรียน นักศึกษา โดยจัดอบรมคณะครู อาจารย์ของโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นครูแกนนำในการถ่ายทอดประมาณ 200 คน
งานดังกล่าวจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มี นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิด พร้อมเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ มาบรรยายให้กับครูเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งเทคนิคการนำชม แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเช่น นายสุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร
รวมไปถึงนายธีระ แก้วประจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอักษรศาสตร์ (ประวัติศาสตร์และจารีตประเพณี) นางสาวพลอยชมพู ยามะเพวัน นักอักษรศาสตร์ กลุ่มจารีตประเพณี สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ร่วมกันบรรยายในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์ : พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์" ด้วย
พร้อมมีการศึกษาดูงาน ณ สถานที่สำคัญรอบเกาะรัตนโกสินทร์ อาทิ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดราชนัดดาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดบวรนิเวศวิหาร
นายกฤษศญพงษ์ กล่าวว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าครู อาจารย์ที่เข้าร่วมอบรม จะได้นำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียน นักศึกษา เยาวชนได้ซึมซับประวัติศาสตร์ความเป็นชาติไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผ่านสถานที่ต่างๆที่สำคัญ และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนซึมซับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การที่ วธ. จัดการอบรมครั้งนี้เพื่อช่วยเติมเต็มความรู้
เชื่อว่าคณะครู อาจารย์ที่สอนด้านประวัติศาสตร์ จะสามารถนำความรู้ไปสร้างรูปแบบ วิธีถ่ายทอด กิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจแก่เด็กและเยาวชน นำเด็กออกไปทัศนศึกษาสถานที่สำคัญรอบเกาะรัตนโกสินทร์ได้ จากนั้นให้นักเรียนถ่ายทอดความรู้ออกมาในรูปแบบบทกลอน ร้อยแก้ว ร้อยกรอง เรียงความ วาดภาพ หรือบันทึกเป็นภาพนิ่ง เพื่อส่งเข้ามาประกวดแข่งขัน กระตุ้นการเรียนรู้แบบไม่น่าเบื่อ ปลูกฝัง สืบสานความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ให้คนรุ่นหลังต่อไป
ในโอกาสดังกล่าว ทางกระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดพิมพ์หนังสือ กรุงรัตนโกสินทร์ รัตนธานีของราชอาณาจักรไทยเพื่อบอกเล่าถึงที่ตั้ง ประวัติความเป็นมา ความสำคัญและพัฒนาการด้านต่างๆของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้กล่าวถึงพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทุกพระองค์ในการสร้างสรรค์ ความเจริญรุ่งเรืองแก่ชาติบ้านเมืองดังปรากฏจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับสถานที่สำคัญรอบเกาะรัตนโกสินทร์ อาทิ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดราชนัดดาราม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ และท้องสนามหลวง เป็นต้น
ทาง ปลัด วธ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มดังกล่าวจะเป็นประโยชน์พื้นฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์แก่ผู้เช้าร่วมโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์และ พระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นการสร้างจิตสำนึกความเป็นไทยและความตระหนักรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนเกิดความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และซาบซึ้ง ในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีทุกพระองค์