กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 ที่ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง คุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล "เส้นทางสู่มรดกโลกของเมืองโบราณศรีเทพ" ว่า รัฐบาลโดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ความสำคัญกับการผลักดันแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยเข้าสู่การขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก เพื่อเผยแพร่ประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นระดับสากล ซึ่งในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ไทยได้ผลักดันแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) อาทิ อนุสรณ์ แหล่งต่างๆและภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ พระธาตุพนม โบราณสถานและภูมิทัศน์ฯ จ.นครพนม เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่มีรมว.วธ.เป็นประธานมีมติเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) เนื่องจากเมืองโบราณศรีเทพ มีคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากล ด้านวัฒนธรรมของแหล่งมรดกโลกตรงกับหลักเกณฑ์ที่ 2 การแสดงออกถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหรือในพื้นที่วัฒนธรรมใดๆ ของโลก ในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี ศิลปะสถาปัตยกรรม การออกแบบผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า การจัดเสวนาครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี สถาปัตยกรรม และสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์เข้าร่วม เพื่อระดมความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคนำมารวบรวมเป็นข้อมูล และองค์ความรู้ในการสนับสนุนการเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองศรีเทพเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก ขณะเดียวกันวธ.จะรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมโดยศึกษาประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพและเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆทั้งในไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงหาข้อมูลสนับสนุนในเชิงวิทยาศาสตร์ เช่น อายุของเมืองศรีเทพ การสร้างเมืองในแต่ละยุค เป็นต้น เพื่อผลักดันเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ จะจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการอีกด้วย
ทั้งนี้ เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ จัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ เมื่อปี2527 เพราะเมืองแห่งนี้ เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของชุมชน มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ความเชื่อ การเมืองการปกครองและศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายราว 1,700 ปีก่อน ต่อเนื่องจนถึงยุคประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่12-16 และวัฒนธรรมขอมโบราณ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18
นายวีระ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานจากกรมศิลปากรซึ่งมีนางอมรา ศรีสุชาติ นักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ และคณะ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 41 เมื่อวันที่ 2 - 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ เมืองคราคูฟ ประเทศโปแลนด์ โดยผลการประชุม รับทราบการรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและชื่นชมการทำงานของไทยในการคุ้มครองและอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกวัฒนธรรม จึงมีมติไม่จัดให้นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาอยู่ในแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย
นอกจากนี้ ภายหลังการประชุม นางอมราและคณะ ได้เข้าพบ Mr. Feng Jing หัวหน้า คณะผู้รับผิดชอบส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกฯ ซึ่งสนับสนุนให้ประเทศไทยจัดส่งแผนแม่บทด้านการบริหารจัดการและการอนุรักษ์นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและให้รายงานต่อคณะกรรมการมรดกโลกฯ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2561
นายวีระ กล่าวอีกว่า ในการประชุมดังกล่าว โดยในปีนี้ได้ประกาศรับรองบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ที่เสนอขอขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของมรดกโลกไว้ จำนวน 82 แหล่ง ในส่วนประเทศไทย พระธาตุพนม โบราณสถานและภูมิทัศน์ฯ จ.นครพนม ได้รับการประกาศเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับรองเข้าสู่บัญชีเบื้องต้นในการประชุมครั้งนี้ด้วย อาทิ Halong Bay-Cat Ba ของเวียดนาม Royal Belum State Park, Gombak Selangor Quartz Ridge, FRIM Sellangor Forest Park ของมาเลเซีย, และ Hin Nam No National Protected Area ของสปป.ลาว เป็นต้น