ไทยชูแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” ลดวิกฤตโลกร้อนภัยคุกคามความมั่นคงอาหาร เสนอในเวทีประชุมใหญ่ เอฟ เอ โอ สมัยที่ 40

ข่าวทั่วไป Tuesday July 18, 2017 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไทยชูแนวทาง "ศาสตร์พระราชา" ลดวิกฤตโลกร้อนภัยคุกคามความมั่นคงอาหาร เสนอในเวทีประชุมใหญ่ เอฟ เอ โอ สมัยที่ 40 ยันไทยพร้อมปฏิบัติตามความตกลงปารีส สู่เป้าโร้ดแมปลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมเข้าร่วมประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ( FAO Conference ) สมัยที่ 40 พร้อมกล่าวถ้อยแถลงภายใต้หัวข้อ " การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกษตร และความมั่นคงอาหาร" ณ กรุงโรม อิตาลี ว่า การเดินทางเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการโดย 2 วัตถุประสงค์สำคัญ คือ 1. การเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ เอฟ เอ โอ สมัยที่ 40 ซึ่งเป็นการประชุมระดับสูงสุดกำหนดจัดให้มีการประชุมทุกๆ 2 ปี โดยจะร่วมกันพิจารณาเรื่องสำคัญๆ เช่น ปัญหาและสถานการณ์เกี่ยวกับอาหารและเกษตรของโลก และการกำหนดแผนงาน งบประมาณ ซึ่งการหารือของการประชุมครั้งนี้อยู่ภายใต้หัวข้อ " การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกษตร และความมั่นคงอาหาร" โดยได้ถือโอกาสกล่าวเน้นย้ำและแสดงบทบาทของไทยในการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการพัฒนาด้านการเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร และ 2.หารือความร่วมมือด้านการเกษตรในระดับทวิภาคีกับประเทศสมาชิก FAO สำหรับสาระสำคัญที่ไทยเสนอในการประชุม FAO สมัยที่ 40 ไทยพร้อมสนับสนุน แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ ความสำเร็จ และองค์ความรู้กับประเทศสมาชิกในเรื่อง"ศาสตร์พระราชา" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาที่มีความลึกซึ้งรอบด้านและมองการณ์ไกลในเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารจัดการน้ำและดิน ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวนมากกว่า 4,000 โครงการ อาทิ ฝนหลวง โครงการแก้มลิง แก้ปัญหาน้ำเสียโดยใช้ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ปลูกหญ้าแฝก เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นต้น สามารถยกระดับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี พระองค์ท่านเป็นแบบอย่างในการปฏิรูปการเกษตรที่รัฐบาลนี้นำมาเป็นแบบอย่าง โดยได้กำหนดนโยบายพัฒนาการเกษตรและสร้างความมั่นคงด้านอาหารท่ามกลางผลกระทบของสภาพอากาศ เช่น การพัฒนาองค์ความรู้ให้เกษตรกร ผ่าน ศพก. 882 ศูนย์ฯ ทั่วประเทศ โดยทำการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ ใช้ Agri-Map เป็นเครื่องมือ ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่( Collaborative Farming) ใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกัน สินค้าเกษตร มีมาตรฐาน ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรอินทรีย์ ที่ปราศจากสารเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระจายน้ำจากแหล่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร บริหารจัดการน้ำให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม และภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรมีความมั่นคงมากขึ้น "ไทยยืนยันการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานร่วมกับ FAO ในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการพัฒนาด้านการเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อให้เป็นไปตามความตกลงปารีสซึ่งไทยร่วมเป็นภาคี โดยมีโร้ดแมป (Road map) ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030 รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นระยะเวลา 35 ปี ระหว่างปี 2015-2050 ซึ่งมีกรอบแนวทางดำเนินการ 3 ประการ คือ 1.การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ 3.การสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" พลเอกฉัตรชัย กล่าว สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเอฟเอโอนั้น ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกขององค์การฯ เมื่อ 27 ส.ค. 2490 โดยในปี 2560 ประเทศไทยจ่ายค่าบำรุงสมาชิก ประมาณ 40.9 ล้านบาท และไทยได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการ (TCP) ในระดับประเทศ เป็นประจำทุกปีๆ ละ ประมาณ 300,000 เหรียญสหรัฐ ตั้งแต่เริ่มมีโครงการปี 2520 จนปัจจุบันกว่า 100 โครงการ ซึ่งครอบคลุมหลายๆ ด้าน อาทิ ด้านปศุสัตว์ ด้านการประมง ด้านการชลประทาน ด้านป่าไม้ ด้านการปรับปรุงดิน เช่น การควบคุมการขนส่งปศุสัตว์ โครงการด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โครงการศึกษาผลกระทบจากการทำนากุ้งในพื้นที่น้ำจืด และการฟื้นฟูที่เนื่องจากปัญหาดินเค็ม เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ