กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐น. (ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น) พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานเปิดนิทรรศการเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ๑๓๐ ปี ไทย-ญี่ปุ่น เรื่อง "ประเทศไทย: แดนแห่งความรุ่งโรจน์ในพระพุทธศาสนา" ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียวประเทศญี่ปุ่น โดยมีนางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว ประธานบริษัทนิเคอิ และผู้มีเกียรติเข้าร่วมในพิธี
พลเอกธนะศักดิ์ กล่าวว่านิทรรศการเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ๑๓๐ ปี ไทย-ญี่ปุ่น เรื่อง "ประเทศไทย: แดนแห่งความรุ่งโรจน์ในพระพุทธศาสนา" ครั้งนี้เป็นสิ่งที่แสดงถึงประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น มีการติดต่อกันมากว่า ๖๐๐ ปี และได้เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อ ๑๓๐ ปีมาแล้ว โดยทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งล้วนมีรากฐานมาจากพระราชไมตรีอันใกล้ชิดระหว่างพระราชวงศ์ญี่ปุ่น และพระราชวงศ์ไทย โดยได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ คนไทยและคนญี่ปุ่น มีความคล้ายกันหลายประการ เช่น การนับถือพุทธศาสนา และการมีพื้นฐานการดำรงชีวิตมาจากสังคมเกษตรกรรม
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ในโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ๑๓๐ ปี ไทย-ญี่ปุ่น รัฐบาลไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมครั้งสำคัญนี้ โดยได้นำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยมที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ทุกสมัยของประเทศไทยจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ๑๗ แห่ง และหอสมุดแห่งชาติ รวม ๑๑๖ รายการ มาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว ระหว่างวันที่ ๔ กรกฎาคม - ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ บางชิ้นไม่เคยอนุญาตให้นำออกไปจัดแสดงนอกประเทศไทย ได้แก่ บานประตูไม้แกะสลักพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นงานฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับทุนสนับสนุนด้านการอนุรักษ์จากมูลนิธิซูมิโตโม ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านการอนุรักษ์จากสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว (NRICPT) และได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ด้วย หวังว่าจะช่วยส่งเสริมให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้ ความเข้าใจในมรดกศิลปวัฒนธรรมไทย อีกทั้งตระหนักถึงความร่วมมือและมิตรไมตรีที่ดีต่อกันของสองประเทศที่มั่นคงยั่งยืนต่อไป