กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย
Highlight
- การทำความรู้จักลูกค้า (KYC) ด้วยวิธีการในปัจจุบัน เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากสำหรับทั้งสถาบันการเงินและลูกค้า
- Electronic Know Your Customer (e-KYC) ซึ่งเป็นการนำอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในขั้นตอนการแสดงตน/ระบุตัวตน (Identification) และการตรวจสอบข้อมูลการแสดงตน (Verification)จึงเป็นทางออกที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก
- ในต่างประเทศมีรูปแบบที่ต่างกันออกไป โดยหลายประเทศใช้วิธีการ Video Identification/ เทคโนโลยี facial recognition และให้ลูกค้าลงนามด้วย electronic signature
- สำหรับ e-KYC ในประเทศไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยยังมีประเด็นที่ต้องหารือในเรื่องวิธีการ/เทคโนโลยีซึ่งเป็นที่ยอมรับ และการเข้าถึงฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
ในปัจจุบันธุรกิจการเงินได้ให้บริการลูกค้าด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และด้วยต้นทุนที่ลดลง พร้อมทั้งเริ่มนำเทคโนโลยีมาช่วยปรับกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยหนึ่งในกระบวนการที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างมาก ได้แก่ การทำความรู้จักลูกค้า หรือ KYC) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องมีขึ้นก่อนเริ่มให้บริการ เพื่อให้สามารถมั่นใจว่าลูกค้าเป็นบุคคลที่ทำธุรกรรมจริง มีแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาลงทุน และทราบถึงผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงิน อย่างไรก็ตาม การทำ KYC ในปัจจุบันถือเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากสำหรับทั้งสถาบันการเงินและลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของลูกค้าที่กรอกข้อมูลต่างๆและนำส่งเอกสารหลักฐานที่กำหนด ต้องมีการพบกันระหว่างลูกค้ากับเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงิน (face-toface contact) และสถาบันการเงินตรวจสอบเอกสารหลักฐานถึงจะสามารถทำธุรกรรมการเงินได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นต้นทุนทั้งด้านค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการทั้งสิ้น
การรู้จักลูกค้าด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Know Your Customer: e-KYC) จึงเป็นแนวทางที่ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เพื่อช่วยลดความยุ่งยากของขั้นตอน KYC ในปัจจุบัน และพัฒนาไปสู่การทำ KYC กับลูกค้าโดยที่ไม่พบหน้า (non face-to-face customer) ในด้านของธุรกิจหลักทรัพย์นั้น หากพิจารณาแนวทางปฏิบัติเรื่อง การรายงานธุรกรรมและการจัดให้ลูกค้าแสดงตนสำหรับสถาบันการเงิน ประเภทบริษัทหลักทรัพย์ ของสำนักงานปปง.จะ พบว่ามี 2 ขั้นตอนหลักที่สำคัญ ได้แก่ การแสดงตน/ระบุตัวตน (Identification) และการตรวจสอบข้อมูลการแสดงตน (Verification)1เป็นขั้นตอนที่ต้องทำควบคู่กันและสามารถที่จะนำวิธีการอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการดำเนินการได้เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
แต่ละประเทศมีรูปแบบที่ต่างกันออกไป โดยหลายประเทศทำ e-KYC ด้วยวิธีการ Video Identification/เทคโนโลยี facial recognition และให้ลูกค้าลงนามด้วย electronic signature
จากการรวบรวมตัวอย่างที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้นำวิธีการอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยในกระบวนการรู้จักลูกค้าของหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศพบว่า มีรูปแบบวิธีการที่แตกต่างกันออกไป บางประเทศหน่วยงานกำกับดูแลได้กำหนดเป็นรูปแบบวิธีการที่ให้อนุญาตอย่างชัดเจนเพื่อให้สถาบันการเงินปฏิบัติ (ตัวอย่างเช่น การอนุญาตให้ใช้ Video Identification ในเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สเปน ) แต่ในบางประเทศก็กำหนดเป็นหลักการกว้างๆโดยไม่ได้เจาะจงรูปแบบวิธีการ (ตัวอย่างเช่น บราซิล)
โดยหลักการแล้วการทำ e-KYC ในขั้นตอนรับลูกค้าใหม่ โดยที่สถาบันการเงินไม่พบหน้าลูกค้า ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าการทำ KYC ปกติที่พบเห็นลูกค้าต่อหน้า รวมถึงประเด็นความเสี่ยงทางด้านเทคโนโลยีด้วย ดังนั้น สถาบันการเงินเองจะต้องมีกระบวนการในการบริหารจัดการความเสี่ยงในด้านที่อาจเกิดขึ้นอย่างรัดกุม ได้แก่ ด้านคุณภาพของอุปกรณ์/เครื่องมือที่นำมาใช้ ทักษะและความชำนาญของบุคลากร วิธีการ/ขั้นตอนการเก็บและตรวจสอบข้อมูลการแสดงตน ความถูกต้องแท้จริงของเอกสารแสดงตนตามที่กำหนด และตรวจว่าลูกค้าเป็นบุคคลเดียวกับในเอกสารแสดงตนหรือไม่ รวมถึงมีขั้นตอนให้ลูกค้ายืนยันตนระหว่างการเก็บข้อมูล ด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลซึ่งต้องรัดกุมเพียงพอ การเก็บรักษาข้อมูลลูกค้าซึ่งต้องเป็นไปตามที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด โดยประเด็นต่างๆนี้ ถึงแม้ว่าสถาบันการเงินจะมอบหมายให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้ทำ KYC แทน แต่สถาบันการเงินไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นได้
สำหรับในประเทศไทย e-KYC ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยธปท.ได้ออกเกณฑ์การเปิดบัญชีรับเงินฝากผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว
สำหรับในประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธปท.ที่ สนส.7/2559 เรื่องหลักเกณฑ์การรับฝากเงินจากประชาชน ซึ่งเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินตามกฎหมายสามารถเปิดบัญชีรับฝากเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว โดยอนุญาตเฉพาะลูกค้าบุคคลธรรมดา และต้องมีการทำ KYC ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าการพบลูกค้าต่อหน้า และมีการบริหารความเสี่ยงที่เข้มขึ้น และถือเป็นการให้บริการช่องทางใหม่ที่ต้องยื่นขออนุญาต โดยสรุปได้ว่า การระบุตัวตน ต้องจัดให้มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ระบบ Video conference ที่เจ้าหน้าที่สังเกตพฤติกรรมและสัมภาษณ์ได้แบบ Real-time โดยมีคุณภาพของภาพและเสียงที่ชัดเจน การพิสูจน์ตัวตน ในกรณีเปิดบัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเครื่องมือของลูกค้า เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และโปรแกรมระบบงานที่สถาบันการเงินเตรียมไว้ สถาบันการเงินต้องใช้ระบบตรวจสอบสถานะของข้อมูลและบัตรประชาชนของลูกค้าที่เป็นปัจจุบัน ประกอบกับระบบการตรวจสอบลายนิ้วมือลูกค้าเป็นอย่างน้อย หากต้องการใช้เทคโนโลยีอื่นนอกจากที่ระบุให้ยื่นขออนุญาต ธปท.เป็นรายกรณี
ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์เองแม้จะยังไม่มีเกณฑ์โดยตรงเกี่ยวกับการทำ e-KYC แต่สำนักงาน ก.ล.ต.ก็สนับสนุนการนำวิธีการดังกล่าวมาใช้ ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ได้มีการเปิดบัญชีผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยปฏิบัติตามข้อเสนอแนะและตัวอย่าง
การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าโดยสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ซึ่งได้กำหนดมาตรการในการลดความเสี่ยงสำหรับกรณี non face-to-face เช่น กรณีเปิดบัญชีผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือ Online Trading ซึ่งบริษัทจำกัดวงเงินในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านการฟอกเงินอย่างมีสาระสำคัญ โดยต้องมีการดำเนินการด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างเพื่อทดแทนการพบลูกค้า ตัวอย่างเช่น การให้ลูกค้าชำระเงินโดยวิธีตัดบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ การจัดให้มี third party reliance ให้สถาบันการเงินอื่นพบกับลูกค้าแทนเป็นกรณีๆไป เป็นต้น
แม้สถาบันการเงินจะมีความต้องการทำ e-KYC แต่ในทางปฏิบัติยังมีหลายประเด็นที่ต้องหารือเพิ่มเติม
ในปัจจุบันแม้ว่าสถาบันการเงินเริ่มมีความต้องการที่จะทำ e-KYC สำหรับการรับลูกค้าใหม่เป็นการทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องหารือเพิ่มเติมกับหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งในมุมมองของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยมีความเห็นดังนี้
- วิธีการ/เทคโนโลยีซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันของหน่วยงานกำกับดูแลทุกแห่งว่าใช้เพื่อทดแทนการทำ KYC แบบปกติที่พบเห็นลูกค้าต่อหน้าได้ เนื่องจากในปัจจุบัน สถาบันการเงินล้วนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับมากกว่า 1 แห่ง การที่หน่วยงานกำกับต่างๆมีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับ e-KYC ที่ยอมรับร่วมกันก็จะทำให้สถาบันการเงินดำเนินการได้อย่างเหมาะสม
- การเข้าถึงฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ในทางปฏิบัติมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิเช่น ฐานข้อมูลสำคัญที่ใช้ตรวจสอบข้อมูลการแสดงตนของลูกค้ายังไม่เปิดให้สถาบันการเงินสามารถเข้าเชื่อมโยงโดยตรงเพื่อทำ e-KYC ได้แบบ real-time ตัวอย่างเช่น ข้อมูลของกรมการปกครอง ฐานข้อมูลที่สถาบันการเงินต้องตรวจสอบมีหลายแหล่ง ทำให้มีต้นทุนในการรวบรวม นอกจากข้อมูลการแสดงตนแล้ว ยังมีข้อมูลที่ต้องตรวจสอบตามกฎหมายปปง.และหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ อาทิเช่น ฐานข้อมูลบุคคลที่กระทำผิดตามความผิดมูลฐาน และ/หรือถูกยึดอายัดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงิน ฐานข้อมูลนักการเมืองในประเทศของปปช./ปปท. ฐานข้อมูลยังไม่ได้อยู่ในรูปแบบซึ่งสามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์อ่านได้ ทำให้มีความยุ่งยากในการดำเนินการ ตลอดจนมีโอกาสผิดพลาด และมีค่าใช้จ่ายสูง
- ความไม่มั่นใจว่าการเก็บข้อมูล KYC ของลูกค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการลงนามในสัญญาใดๆกับลูกค้าที่กระทำโดยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นที่ยอมรับให้มีผลทางกฎหมายได้ แม้ว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มานานแล้ว ทำให้การใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญของการทำ e-KYC ยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับอาจระบุให้ชัดเจนว่า ลายมือชื่อให้รวมถึงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ตามมาตรา 26 ของกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยยืนยันว่าข้อมูลนั้นถูกส่งมาลูกค้าจริงๆและไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข
สถาบันการเงินต่างๆมีแนวโน้มที่จะให้บริการด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากได้รับการสนับ สนุนจากหน่วยงานกำกับดูแลในการคลี่คลายประเด็นต่างๆที่ได้กล่าวในข้างต้น โดยเฉพาะในเรื่องของฐานข้อมูลซึ่งเกี่ยวพันกับข้อกฎหมายซึ่งกำกับหน่วยงานที่เป็นผู้ดูแลข้อมูลอยู่อีกชั้นหนึ่งด้วยแล้ว ก็คาดว่ามีโอกาสที่จะเห็นการทำ e-KYC รูปแบบต่างๆเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้
โดย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย