กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ว่า ตามมติที่ประชุม กวช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหลักเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ โดยรมว.วธ เป็นประธาน เพื่อปรับปรุงคณะอนุกรรมการอำนวยการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติและคณะอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ สรรหาและคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ที่ประชุม กวช. รับทราบรายงานมติคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ฯ โดยมีมติเสนอให้ กวช. เห็นชอบหลักเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2560 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 7 ชุด ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการอำนวยการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ 1 ชุด และ 2.คณะอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ 6 ชุด 3 สาขา คือ คณะอนุกรรมการฯ 1.ทัศนศิลป์ ประเภทวิจิตรศิลป์ 2.ทัศนศิลป์ ประเภทประยุกต์ศิลป์ 3.ศิลปะการแสดง ประเภทดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย และศิลปะการแสดงพื้นบ้าน 4.ศิลปะการแสดง ประเภทดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล 5.ศิลปะการแสดง ประเภทภาพยนตร์และละคร และ 6.วรรณศิลป์ ทั้งนี้ อนุกรรมการฯ ทั้ง 7 ชุด มีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 2 ปี ได้ไม่เกิน 2 วาระติดกันและกลับมาเป็นอนุกรรมการฯ ได้หลังจากพ้นวาระแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า สำหรับหลักเกณฑ์คัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2560 ยังใช้หลักเกณฑ์เดิมที่ปรับปรุงล่าสุดเมื่อปี 2555 ในการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ 3 สาขาหลัก เช่นเดิม ได้แก่ 1.ทัศนศิลป์ 2.วรรณศิลป์ และ 3.ศิลปะการแสดง เหตุผลที่ใช้หลักเกณฑ์เดิม เนื่องจากมีรายละเอียดที่ครอบคลุมรอบด้าน รวมทั้งสอดคล้องกับพัฒนาการด้านศิลปะและวัฒนธรรมในปัจจุบัน สามารถใช้คัดเลือกศิลปินแห่งชาติได้อย่างเหมาะสม แต่ที่แตกต่างจากที่ปีที่ผ่านมาคือ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกสาขา 7 ชุด อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2528-2559 ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ 3 สาขา ทั้งสิ้น 278 คน ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ 152 คน และเสียชีวิต 126 คน
พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน ได้แก่ 1.คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล 2.นายประวิตร นิลสุวรรณกุล 3.นางเบญจวรรณ สร่างนิทร 4.นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร 5.นายปรารพ เหล่าวานิช 6.นางพนิดา ไพศาลยกิจ 7.นางนุชนาถ วสุรัตน์ และ8.นางชฎาทิพ จูตระกูล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารการเงินและด้านวัฒนธรรม เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม มีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี และเห็นชอบคำของบรายจ่ายประจำปี 2561 ของกองทุนฯ 28 ล้านบาท โดยให้กองทุนฯเพิ่มเติมโครงการที่จะดำเนินการในปี 2561 อาทิ การจัดเทศกาลมหกรรมวัฒนธรรมไทยระดับนานาชาติ การจัดทำคลังข้อมูลและหนังสือทำเนียบผลงานของศิลปินแห่งชาติและศิลปินที่มีชื่อเสียงที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แกลอรี่ และหอศิลป์ของหน่วยงานรัฐ เอกชน เป็นต้น นอกจากนี้ ได้รับทราบรายงานประจำปีของการบริหารงานการเงินของกองทุนฯ ปัจจุบันมีทรัพย์สินราวกว่า 352 ล้านบาท รวมทั้ง ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการจัดงานประเพณีบุญหลวงการละเล่นผีตาโขน และมหกรรมการแสดงหน้ากากนานาชาติ วันที่ 23-28 มิถุนายน 2560 ณ จังหวัดเลย โดยมี 8 ประเทศเข้าร่วม อาทิ กัมพูชา อินโดนีเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ เป็นต้น มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1 แสนคน สร้างรายได้สู่ชุมชนกว่า 100 ล้านบาท
ขณะเดียวกันที่ประชุมได้รับทราบผลการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา ปี 2560 เมื่อวันที่ 3-9 กรกฎาคม 2560 ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนใน 16 จังหวัดของไทย ที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก โดยมีเงินหมุนเวียนกว่า 6,000 ล้านบาท
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้รับทราบสรุปผลการดำเนินงานในรอบ 3 ปี ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปี ของกระทรวงวัฒนธรรม ได้แก่ 1.การเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2.การสร้างคนดีและสังคมดีด้วยมิติทางวัฒนธรรม3.การส่งเสริมอัตลักษณ์ไทยและความเป็นไทย 4.สร้างรายได้และสังคมอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงด้วยทุนและทรัพยากรทางวัฒนธรรม5.นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 6.การเสริมสร้างเกียรติภูมิ ภาพลักษณ์ และความสัมพันธ์ที่ดีของประเทศด้วยมิติทางวัฒนธรรม 7.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยมิติทางวัฒนธรรม 8.การจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน 9.การยกระดับการบริหารจัดการงานวัฒนธรรม 10.การติดตามโบราณวัตถุไทยคืนจากต่างประเทศ และ11.การดำเนินการตามมติคณะกรรมการมรดกโลก