กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดเวทีประชุม "หลักประกันสุขภาพกับการให้บริการ PCI" เพื่อระดมความคิดเห็นและประสานความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบบริการ "การถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจผ่านทางผิวหนัง" (PCI : Percutaneous Coronary Intervention) โดยการจัดทำข้อมูลทะเบียนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจผ่านทางผิวหนัง (PCI Registry) เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบการบันทึกข้อมูลกลางที่มีมาตรฐาน และการมีข้อมูลที่เป็นภาพรวมของประเทศ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพการให้บริการและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
พ.อ.รศ.ดร.นพ.นครินทร์ ศันสนยุทธ อายุรแพทย์หัวใจ แผนกโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เครือข่ายนักวิจัย สวรส. ให้ข้อมูลว่า การจัดทำ Thai PCI Registry ถือเป็นการวางรากฐานเครือข่ายการขยายหลอดเลือดหัวใจผ่านทางผิวหนังของประเทศไทย และส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างห้องสวนหัวใจทั่วประเทศ การจัดทำระบบลงทะเบียนบันทึกข้อมูลจะทำให้เห็นข้อมูลเวชปฏิบัติ การทำการขยายหลอดเลือดหัวใจผ่านทางผิวหนังของประเทศไทย รวมถึงประเภทของผู้ป่วย ข้อบ่งชี้ในการทำ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ ยาที่ต้องใช้ ผลการรักษา อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน ตลอดจนข้อมูลการกลับมารักษาซ้ำ ที่ผ่านมาข้อมูลดังกล่าวมีเพียงตัวเลขประมาณการเท่านั้น แต่ยังไม่มีข้อมูลที่เป็นภาพรวมของประเทศที่สามารถนำไปวิเคราะห์และวางแผนการพัฒนาคุณภาพการให้บริการหรือการป้องกันโรคและการวางแผนเชิงนโยบาย
"การทำวิจัยครั้งนี้ จึงต้องการความร่วมมือจากสถานพยาบาลและสถาบันต่างๆ ในการร่วมลงทะเบียนบันทึกข้อมูลในระบบ Thai PCI Registry เพื่อการร่วมกันทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วยและประเทศ โดยการเก็บข้อมูลจะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง พร้อมการรายงานข้อมูลกลับเป็นระยะเพื่อการนำไปปรับปรุงและเพิ่มคุณภาพการให้บริการของแต่ละสถาบัน ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่กระบวนการป้องกันต่างๆ การบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำข้อมูลไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ตลอดจนการวางแผนเชิงนโยบายในระดับประเทศ หาก Thai PCI Registry สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ การดำเนินงานในลักษณะของเครือข่ายแบบนี้ก็จะสามารถทำในกลุ่มโรคอื่นๆ ได้ด้วย" พ.อ.รศ.ดร.นพ.นครินทร์ กล่าว
ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา กล่าวว่า การพัฒนาระบบบริการ PCI นับเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งในหลายจิ๊กซอว์ของการพัฒนาคุณภาพการให้บริการในระบบสุขภาพ เพื่อให้คนไทยได้รับการดูแลและการบริการที่มีมาตรฐาน ทางแพทยสภาได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาประเทศไทยมีระบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นระบบการให้บริการ การจัดสรรค่าใช้จ่าย หากแต่ยังเป็นแบบต่างคนต่างเก็บข้อมูล ขาดการเชื่อมโยงข้อมูล และยังไม่มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของการให้บริการอย่างเป็นระบบ ดังนั้นทุกฝ่ายควรกลับมาทบทวนระบบและกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกระบบมุ่งสู่มาตรฐานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คุณภาพการรักษาและการให้บริการ ระบบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล การนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ การสะท้อนข้อมูลกลับเพื่อการพัฒนาการให้บริการ การจัดสรรเงินสนับสนุนการให้บริการ การจัดสรรค่าตอบแทน ฯลฯ ซึ่งควรมีการศึกษาวิจัยเข้าไปพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยในทุกมิติ
"หากมีระบบการบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถสะท้อนศักยภาพการบริการทางการแพทย์ที่เป็นภาพรวมของประเทศได้ จะสามารถสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการทางการแพทย์กับนานาประเทศได้อีกด้วย ซึ่งแพทยสภาพร้อมให้การสนับสนุนการวิจัยครั้งนี้อย่างเต็มที่" นายกแพทยสภา กล่าว
ด้าน นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า จากปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นปัญหาต้นน้ำที่ควรมีการบันทึกข้อมูลการรักษาและสังเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ โดย สวรส. ได้ทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยและสมาคมแพทย์มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือดแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาโครงการวิจัยเพื่อการสร้างระบบการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ คาดหวังว่าระบบดังกล่าวจะสามารถพัฒนาไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลที่ทำให้รู้ว่า การให้บริการที่ดำเนินการอยู่ เกิดผลอย่างไรกับผู้ป่วย และการสรุปข้อมูลให้กับสถานพยาบาล และสถาบันต่างๆ เพื่อการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดระบบการทำงานแบบเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ และการดำเนินการร่วมกันครั้งนี้จะเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญ และร่วมกันเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบดูแลผู้ป่วย