กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน หัวข้อ"วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา" จากกลุ่มตัวอย่าง 2,668 คน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ระหว่างวันที่ 20 – 30 มิถุนายน 2560 โดยผลสำรวจความคิดเห็น พบว่าประชาชนร้อยละ 95.43 ทราบว่า วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระปฐมเทศนาเป็นครั้งแรกในโลก ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรทำให้อัญญาโกณฑัญญะพราหมณ์ได้ดวงตาเห็นธรรมทูลขออุปสมบทเป็นพระภิกษุรูปแรก จนบังเกิดพระรัตนตรัย ครบทั้ง 3 คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ และ ร้อยละ 95.99 ทราบว่า วันเข้าพรรษาเป็นวันที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่บัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่นเว้นแต่มีกิจธุระจำเป็น เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยของพระภิกษุสงฆ์
ทั้งนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ประชาชน ร้อยละ 61.54 ทราบว่า ประเทศไทยร่วมกับประเทศอาเซียน จัดกิจกรรมวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาใน 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก เชียงราย แม่ฮ่องสอน สระแก้ว ตราด สุรินทร์ มุกดาหาร บึงกาฬ หนองคาย อุบลราชธานี นครพนม เลย ศรีสะเกษ ระนอง สงขลา และสตูล ระหว่างวันที่ 3-9 กรกฎาคมนี้ เพื่อบูรณาการจัดกิจกรรมสานสัมพันธไมตรีในมิติพระพุทธศาสนาอาเซียน โดยน้อมนำหลักธรรมทางศาสนาไปประพฤติปฏิบัติ และนำความเป็นวิถีถิ่น วิถีไทย และวัฒนธรรมไทยสู่วัฒนธรรมอาเซียน
นายวีระ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมที่ประชาชนจะทำในวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา พบว่า ร้อยละ 87.07 ตั้งใจจะงดดื่มเหล้าตลอดพรรษารองลงมาร้อยละ 84.65 ไปหล่อเทียน ถวายเทียนพรรษา และเข้าอุปสมบทเป็นภิกษุ และร้อยละ 65.99 เข้าวัดทำบุญทุกวันพระตลอดพรรษาและร่วมกิจกรรมงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 3-9 ก.ค. นี้ รวมทั้งพบว่า ร้อยละ 83.69 สนใจเข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และ ร้อยละ 61.17 สนใจร่วมพิธีวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาของหน่วยงานภาครัฐ 20 กระทรวง
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจได้สอบถามความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการส่งเสริมพระพุทธศาสนา ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เสนอให้ วธ. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม เวียนเทียน และถวายเทียน เป็นต้น รวมทั้งจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้อย่างทั่วถึง เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรม สืบสานประเพณีที่ดี และ ปลูกฝัง กระตุ้นให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของพระพุทธศาสนา ตลอดจนรณรงค์ให้ประชาชนลด ละอบายมุข ถือศีลในวันสำคัญทางศาสนา ทั้งนี้ วธ.จะนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาปรับปรุงการทำงาน ในปีต่อๆ ไป