กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--กรมประมง
"เกษตรอินทรีย์" มาใช้เป็นแนวทางสำคัญในการทำการเกษตรด้วยวิธีธรรมชาติบนพื้นที่การเกษตรที่ไม่มีสารพิษตกค้างและหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งทางดิน ทางน้ำ และอากาศ เพื่อเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินและความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศน์
นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้เกษตรกรใช้หลักเกษตรอินทรีย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการทำเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรตลอดจนสร้างความปลอดภัยต่อผู้บริโภคให้มีความมั่นใจในการบริโภคผลิตภัณฑ์ประมงแล้วนั้น กรมประมงในฐานะหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในภาคการประมงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 โดยมีการนำร่องพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่จังหวัดสุรินทร์เป็นที่แรก ต่อมาในปี 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีแผนขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ และกำหนดให้เป็น 1 ใน 6 โครงการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายในการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศให้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10% พร้อมนำร่องจังหวัดยโสธรเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์เพิ่มเติม สำหรับในปี 2560 กรมประมงได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ทั้งสัตว์น้ำจืดและสัตว์น้ำชายฝั่ง เพื่อผลักดันให้สินค้าเกษตรเหล่านี้สามารถเข้าสู่ระบบมาตรฐานอินทรีย์ซึ่งเป็นมาตรฐานที่อยู่ในระดับสากลและเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก สำหรับผลการดำเนินการโครงการพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ในรอบ 6 เดือน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2559 – วันที่ 15 เมษายน 2560 กรมประมงได้มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามเป้าหมายดังนี้
1.จัดฝึกอบรมหลักสูตร "การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์"ให้กับเกษตรกรจำนวน 5 รุ่น ซึ่งเป็นเกษตรกรจาก 8 จังหวัด ได้แก่ จ.สุรินทร์ จ.ยโสธร จ.เชียงใหม่ จ.สมุทรปราการ จ.ตราด จ.นครศรีธรรมราชจ.พัทลุง และจ.ยะลา รวม 250 ราย (ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว) สำหรับหลักสูตรดังกล่าวจะเป็นการให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้เข้าอบรมในเรื่องสถานการณ์และทิศทางของสินค้าเกษตรอินทรีย์ , มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ , รูปแบบและวิธีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์รวมถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ก็มีเกษตรกรผู้ผ่านการอบรมแล้วจากโครงการฝึกอบรมดังกล่าว และยื่นขอรับการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จำนวน 57 ราย ซึ่งจากผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมามีเกษตรกรหรือฟาร์มที่ผ่านมาตรฐาน เกษตรอินทรีย์เล่ม 1 : การผลิต แปรรูป แสดงฉลากและจำหน่ายผลผลิต และผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (มกษ.9000 เล่ม 1-2552) จำนวน 36 ราย
2.การมอบปัจจัยการผลิตเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะรับเป็นพันธุ์ปลากินพืชและอาหาร(รำข้าว)โดยจะรับมอบกันในช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคม เนื่องจากจะอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะเป็นฤดูที่มีน้ำในปริมาณน้ำเอื้อต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
3.การสร้างจุดเรียนรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ในปี 2559 กรมประมงได้ตั้งเป้าหมายสร้างจุดเรียนรู้จำนวน 5 แห่งปัจจุบันดำเนินการเรียบร้อยแล้วใน จ. สุรินทร์ จ. ยโสธร จ. กาฬสินธุ์ จ. ร้อยเอ็ด และจ. มหาสารคาม โดยกรมประมงยังคงพัฒนาจุดสาธิตทั้ง 5 แห่งนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลการดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา จ. ยโสธร กลายเป็นจังหวัดนำร่องเกษตรอินทรีย์ขึ้นอีกหนึ่งจังหวัด สำหรับในปี 2560กรมประมงได้คัดเลือกเกษตรกรที่มีความสามารถตามหลักเกณฑ์การประเมินของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นอีก8 ราย เพื่อจัดตั้งเป็นจุดสาธิตใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการยื่นขอรับการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2561
4. จากการส่งเสริมเกษตรกรในโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ที่ผ่านมาล่าสุดกรมประมงได้จัดกิจกรรม Matching ระหว่างผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์กับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ขึ้น เพื่อขยายกลุ่มตลาดให้เกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เล่ม1 : การผลิต แปรรูป แสดงฉลากและจำหน่ายผลผลิต และผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ได้แก่ บริษัท จุลไหมไทย จำกัด กับ บริษัท มารีนเนอร์ กรุ๊ป จำกัด และกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ปลาตะเพียน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร กับ หจก. ยโสธร กรีนเนส
รองอธิบดีกรมประมงกล่าวตอนท้ายว่า การทำเกษตรอินทรีย์อาจจะพบปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้างเนื่องจากทุกขั้นตอนจะต้องไม่มีการใช้สารเคมีรวมถึงกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ แต่เชื่อมั่นว่าโครงการเกษตรอินทรีย์จะสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพและสร้างจุดแข็งให้สินค้าประมงของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในยุคสมัยที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น