กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ภาครัฐและภาคเอกชนประสานความร่วมมือในการพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ย้ำให้ตระหนักถึงอันตรายจากโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกินไป ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ได้แก่ ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การไม่ออกกำลังกาย หรือ น้ำหนักตัวที่มากเกินไป เป้าหมายหลักของการรักษาโรคเบาหวาน คือ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติ โดยไม่มีน้ำตาลต่ำ เพื่อชะลอและป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนในอนาคต ตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญคือ ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมหรือระดับฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C) หรือเรียกสั้นๆ ว่า เอ วัน ซี (A1C) ซึ่งตัวเลขเป้าหมายที่บอกว่าการควบคุมเบาหวานอยู่ในเกณฑ์ที่ดีนั้นคือ ต้องมี เอ วัน ซี น้อยกว่า 7%
ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ รายงานว่าในปี พ.ศ. 2558 ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกมีจำนวน 415 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคนในปี พ.ศ. 2583 จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานจำนวน 5 ล้านคน ในปัจจุบันประชากรวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 11 คน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน สำหรับในประเทศไทยมีรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราตายด้วยโรคเบาหวานของประเทศในปี 2556-2558 เท่ากับ 14.93, 17.53 และ 17.83 คนต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกปี การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2557 พบว่าความชุกของโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 คิดเป็นผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมากถึง 4.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ซึ่งพบเพียงร้อยละ 6.9 หรือมีคนเป็นโรคเบาหวาน 3.2 ล้านคน
โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมและวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถป้องกันได้ การบริหารจัดการโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ด้วยการจัดให้มีบริการดูแลรักษาภายหลังการเกิดโรคแต่เพียงอย่างเดียว ไม่อาจลดภาระผู้ป่วย/ครอบครัวและสังคมในระยะยาวได้ดังนั้น การป้องกันก่อนการเกิดโรคเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องทำควบคู่กันไป โดยมีกรอบแนวคิดการบริหารจัดการควบคุมป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทั้งนี้ผู้ป่วยเบาหวานควรต้องมีการจัดการดูแลตัวเองที่ดี (Self-Management) เพราะการจัดการตนเองทำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในทางที่ดีขึ้น และสามารถควบคุมอาการของโรคได้ นอกจากนี้ยังเข้าใจอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถจัดการอารมณ์ของตนเองได้ ผู้ป่วยเบาหวานจะสามารถดูแลตัวเองได้ดีได้จะต้องได้รับความรู้ที่ถูกต้องจากบุคลากรทางการแพทย์ จะเห็นว่า โรคเบาหวาน หากควบคุมไม่ได้ตามเป้าหมาย เมื่อเกิดโรคแทรกซ้อนจะเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูงมากและจะเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายเพื่อใช้ในการรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนั้นหากผู้ป่วยเบาหวานสามารถดูแลตัวเอง ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีแล้ว จะสามารถป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่จะตามมาได้ ซึ่งจะส่งผลให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยทั้งของผู้ป่วยเองและในภาพรวมระดับประเทศได้
ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง วรรณี กล่าวว่า สมาคมโรคเบาหวานฯ ในฐานะของหน่วยงานที่มีพันธกิจที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ได้มีโครงการเพื่อเพิ่มศักยภาพและความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อที่จะทำให้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานมีศักยภาพที่ดีมากขึ้น ในส่วนของการพัฒนาให้ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากการจัดให้มีการประชุมประจำปีแล้ว ยังมีการประชุมวิชาการอื่นๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และผู้ดูแลชมรมเบาหวาน การประชุมวิชาการสัญจร การสัมมนาพัฒนาเครือข่ายชมรมเบาหวาน สำหรับการเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานให้ตระหนักถึงความสำคัญและการป้องกันโรคเบาหวานให้กับประชาชนทั่วไป สมาคมโรคเบาหวานฯ มีการจัดงานสัปดาห์วันเบาหวานโลก ซึ่งมีกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับโรคเบาหวานทุกปีอีกด้วย มีเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน นอกจากนี้ยังการร่วมมือกับองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น เครือข่ายคนไทยไร้พุง ของ สสส. เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน มีการร่วมมือกับ สปสช.ในโครงการพัฒนาระบบและเครือข่ายบริบาลรักษาเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น การจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวานเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานให้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ เป็นต้น ซึ่งสมาคมโรคเบาหวานฯ เชื่อว่าการร่วมมือกันเป็นสหสาขาวิชาชีพ และการร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จะสามารถพัฒนาการดูแลผู้ป่วยเบาหวานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไปได้อย่างแน่นอน
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1C) ได้ตามเป้าหมายประมาณ 35.6% หรือ เพียง 1 ใน 3 ซึ่งหากเราสามารถควบคุมระดับน้ำตาลสะสมได้ตามเป้าหมาย จะลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการบริหารการดูแลโรคเบาหวาน เป้าหมายหลักนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการร่วมมือกันของบุคลากรทางแพทย์เป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ รวมทั้งผู้ป่วยเบาหวานและครอบครัว ปัจจัยที่ส่งผลต่อการควบคุมระดับ เอวันซี เช่น อาหาร การดำเนินชีวิต ยาที่ใช้ และ การมีวินัยในการบริหารยาของผู้ป่วย อุปสรรคสำคัญในการควบคุมน้ำตาลตามเป้าหมาย คือ ภาวะน้ำตาลต่ำ และ การกลัวภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด หรือ ไฮโปไกลซีเมีย (Hypoglycaemia) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับแพทย์และตัวผู้ป่วยเอง เนื่องจากอาจมีความกังวลถึงอันตรายจากภาวะน้ำตาลต่ำอย่างรุนแรง ส่งผลให้ไม่กล้าปรับขนาดยา จึงทำให้คุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ดังนั้นหากเราต้องการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมเอวันซีได้ตามเป้าหมายมากขึ้น จะต้องได้รับความร่วมมือและความใส่ใจของทั้งผู้ป่วยและแพทย์ด้วย
พันเอก (พิเศษ) รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง อภัสนี บุญญาวรกุล ผู้อำนวยการกองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า การรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานเพื่อให้สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย คือ ระดับฮีโมโกลบิล เอ วัน ซี (HbA1C) หรือ เอ วัน ซี (A1C) ที่น้อยกว่า 7% มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ตามที่อาจารย์วรรณีได้กล่าวไว้ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การดำเนินชีวิต (Life style) และยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งมีทั้งยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทานและยาฉีดอินซูลิน อีกทั้งความสามารถในการบริหารยาของผู้ป่วย ก็เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะช่วยให้มีการควบคุมน้ำตาลได้ตามเป้าหมาย ซึ่งมีหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการระบุว่ายาอินซูลินเป็นยาที่ช่วยควบคุมระดับ เอ วัน ซี (A1C) ได้มากที่สุด ซึ่งยาอินซูลินในปัจจุบันก็มีการพัฒนาออกมาหลายแบบ แพทย์สามารถเลือกใช้ยาอินซูลินในแบบที่มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน (การรับประทานอาหารและการทำงาน) ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีระดับ เอ วัน ซี (A1C) ได้ตามเป้าหมาย
ข้อจำกัดในการใช้ยารักษาผู้ป่วยเบาหวานให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ตามเป้าหมาย โดยสามารถชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนในอนาคต คือ ภาวะน้ำตาลต่ำ และการกลัวการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดจากการใช้ยา ยาอินซูลินที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถเลียนแบบการหลั่งอินซูลินเหมือนคนปกติ จึงยังมีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการบริหารยาให้ตรงตามความต้องการของร่างกาย ยาที่ออกฤทธิ์สั้นเกินไป ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตลอดทั้งวัน ทั้งยังเกิดความแปรปรวนในการออกฤทธิ์ของยา ซึ่งอาจทำให้ค่าน้ำตาลในกระแสเลือดสูงหรือต่ำเกินไปได้ ดังนั้นยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นยาในอุดมคติ ควรจะต้องมีคุณสมบัติในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตลอดทั้งวันเหมือนกับคนปกติ ไม่เกิดภาวะน้ำตาลต่ำหรือมีโอกาสเกิดน้อยที่สุด ผู้ป่วยสามารถบริหารยาได้เอง มีความยืดหยุ่นในการบริหารยา คือ สามารถฉีดยาเวลาไหนก็ได้
ปัจจุบันมีการพัฒนายาอินซูลินรุ่นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ และลักษณะการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย กล่าวคือ มีระยะออกฤทธิ์ยาวมากกว่า 24 ชั่วโมง โดยระดับยาในกระแสเลือดที่คงที่ ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ยาวนานคงที่ ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำน้อยมาก อีกทั้งมีความยืดหยุ่นในการบริหารยา คือสามารถฉีดยาเวลาไหนก็ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการฉีดยาว่าต้องฉีดเวลาเดิมๆทุกวัน ผู้ป่วยจึงยอมรับการฉีดยาได้ง่ายขึ้น และทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยในอนาคตอีกด้วย
อย่างไรก็ตามนอกจากการบริหารยาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยต้องมีวินัยในการดูแลตัวเองให้ดีเพื่อสามารถอยู่กับเบาหวานได้อย่างมีความสุขด้วย
Dr. Kirstine Brown Frandsen, Corporate vice president, Novo Nordisk A/S กล่าวว่า บริษัทโนโว นอร์ดิสค์ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนายาใหม่ๆ มาตลอดกว่า 90 ปี เพื่อพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานให้ดียิ่งขึ้น โดยมีการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมยาชีววัตถุใหม่ๆรวมถึงอุปกรณ์ในการฉีดยาอินซูลินเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยทั่วโลก ให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมาย มีความสะดวกสบายในการบริหารยา และลดความเสี่ยงในการเกิดอาการข้างเคียงหรือชะลออาการแทรกซ้อนในอนาคต
การวิจัยทางคลินิกสำหรับการพัฒนายาใหม่เป็นสิ่งที่ยากและท้าทาย และมีความสำคัญในกระบวนการพัฒนายา เพื่อติดตามประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 10 ปี ในการพัฒนายาแต่ละชนิด แม้ว่าการพัฒนายาใหม่มีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่การอนุมัติยาใหม่เพื่อให้ใช้กับผู้ป่วยจะต้องมีการทำการวิจัยเพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงความปลอดภัยในการใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งบริษัทโนโว นอร์ดิสค์ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยในปัจจุบันมีผลการศึกษาที่เพิ่งออกมาเมื่อเร็วๆนี้ ไม่ว่าจะเป็น DEVOTE study, LEADER study และ SUSTAIN ซึ่งยืนยันว่านอกจากได้ผลดีในการรักษาโรคเบาหวานเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลที่ดีแล้ว ยังมีความปลอดภัยต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ รวมถึงการทำงานของไตและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด
เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
Mr.Frederik Kier, Senior Vice President, Region AAMEO, Novo Nordisk กล่าวว่า บริษัทโนโว นอร์ดิสค์ เรามีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอันเป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดโรคเบาหวานในประเทศไทย โดยถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยพยายามพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยที่จะได้รับ ป้องกันและชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อน เพื่อทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
บริษัทโนโว นอร์ดิสค์ ประเทศไทย ก่อตั้งและดำเนินงานมาแล้วกว่า 30 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรานำยาเบาหวานเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นยาอินซูลินชนิดดั้งเดิม อินซูลินอะนาล็อก (Modern Insulin) และอินซูลินชนิดใหม่ (New Generation Insulin) และยากลุ่มใหม่ที่สังเคราะห์เลียนแบบ GLP-1 ( GLP-1 analog) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง ตามสิทธิ์หลักประกันสุขภาพของประชาชนไทย
การดูแลผู้ป่วยเบาหวานในปัจจุบัน นอกเหนือจากการควบคุมระดับน้ำตาลให้ถึงเป้าหมายแล้วยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดและความปลอดภัยจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆของผู้ป่วยด้วย สิ่งหนึ่งที่จะสามารถป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและโรคแทรกซ้อนได้คือความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย นอกจากอุปกรณ์ฉีดยาที่ง่ายต่อการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพก็มีส่วนช่วยเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยได้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือความมีวินัยของผู้ป่วยและความเอาใจใส่ในการให้กำลังใจและสนับสนุนจากครอบครัวและบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย