กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--เอบีเอ็ม
เดินหน้าพัฒนานักวิทยาศาสตร์อาหาร ขับเคลื่อนประเทศไทย ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
เมื่อวิถีชีวิตของประชากรโลกเปลี่ยนไปจากสังคมการเกษตรสู่สังคมเมือง ความท้าทายที่สำคัญคือการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่โลกยังมีพื้นที่เท่าเดิม ดังนั้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารจึงเป็นศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญในการแปรรูปอาหารที่ปลอดภัยและคงคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งเรื่องเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการถนอมอาหาร เช่น การดองเค็ม ตากแห้งนั้นมีมานานแล้ว แต่สิ่งที่มาตอบโจทย์ความต้องการอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้า
ด้วยเหตุนี้ เนสท์เล่ จึงจับมือกับสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (โฟสแตท) ดำเนินโครงการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร "โฟสแตท-เนสท์เล่ ควิซ โบลว์" (FoSTAT-Nestle Quiz Bowl) อย่างต่อเนื่องมาถึง 15 ปี เพื่อมุ่งแบ่งปันองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารให้กับนิสิตนักศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมอาหารให้ทัดเทียมสากล และเกิดความยั่งยืนขานรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ Value-Based Economy ซึ่งหนึ่งในแผนการขับเคลื่อนดังกล่าวเป็นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอาหาร และการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ
นางดรุณี เอ็ดเวิร์ดส ที่ปรึกษาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย และประธานผู้ทรงคุณวุฒิวิชาการ กล่าวว่า "ความต้องการด้านอาหารในประเทศไทยเปลี่ยนไป จากเดิมเป็นสังคมเกษตรที่ประชากรทำการเกษตรกว่า 80% ต่อมามีย้ายถิ่นฐานมาทำงานในเมืองมากขึ้น ภาคเกษตรกรรมจึงมีไม่มากเหมือนแต่ก่อน เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่ในอดีตทำการเกษตรถึง 70% คล้ายบ้านเรา ปัจจุบันเหลือเพียง 2% แต่ยังสามารถมีอาหารที่เพียงพอให้กับประชากร เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ช่วยให้สามารถแปรรูปอาหารที่มีความปลอดภัย สามารถคงคุณภาพ รสชาติความอร่อย และโภชนาการที่ดีกว่าสมัยก่อน จึงทำให้สามารถมีผลิตภัณฑ์อาหารเพียงพอต่อความต้องการของคนอเมริกัน สำหรับเมืองไทย เรามีกลุ่มคนทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารประมาณ 50% ดังนั้น โอกาสของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารของเราจึงมีอยู่มาก"
ศ.ดร.ภาวิณี ชินะโชติ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (โฟสแตท) กล่าวถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันว่า "มีการคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น การใช้ชีวิตในสังคมเมืองทำให้พฤติกรรมการรับประทานเปลี่ยนไปและมีผลต่อสุขภาพโดยตรง เมื่อสูงวัยขึ้นก็จะเผชิญกับโรคต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นโอกาสของบริษัทผู้ผลิตที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นอกจากจะมีโภชนาการที่เหมาะสมแล้ว ความปลอดภัยก็เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน ประเทศไทยเรามีโอกาสที่ดีมาก เพราะเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เรามีศักยภาพที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพได้ ดังนั้นจึงต้องพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารให้มีความเข้าใจที่หลากหลาย และสามารถทำงานในระบบสากลได้ เพื่อยกระดับวงการธุรกิจอาหารให้มีศักยภาพเท่าเทียมนานาชาติ สิ่งสำคัญคือการสร้างนวัตกรรมด้านอาหารให้เกิดมูลค่าเพิ่ม"
การต่อยอดด้วยการสนับสนุนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารจึงเป็นสิ่งจำเป็น และนั่นคือที่มาของการจัดการแข่งขัน โฟสแตท-เนสท์เล่ ควิซ โบลว์ (FoSTAT-Nestle Quiz Bowl) ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับประเทศที่มีการพัฒนาเนื้อหาที่เข้มข้น จนปัจจุบันขยายผลจนมีตัวแทนกว่า 200 คนจากสถาบันการศึกษา 69 แห่งเข้าร่วมแข่งขัน และในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันนี้มาแล้วกว่า 3,400 คน ซึ่งนับเป็นเวทีการแข่งขันตอบคำถามด้านวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารที่มีจำนวนผู้เข้าแข่งขันมากที่สุดในโลก
นายนภดล ศิวะบุตร ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า เพื่อให้การพัฒนาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์อาหารสอดรับกับการเติบโตของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี เนสท์เล่ ในฐานะบริษัทอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทยขับเคลื่อนการแข่งขัน "โฟสแตท-เนสท์เล่ ควิซ โบลว์" อย่างต่อเนื่องมาจนถึง 15 ปี และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์อาหารว่าเป็นสนามทดสอบที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนมิตรภาพในหมู่นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อาหารแถวหน้า จากรุ่นสู่รุ่น และนำไปสู่เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ทางอาหารรุ่นใหม่ที่แข็งแกร่ง
"โฟสแตท-เนสท์เล่ ควิซ โบลว์ สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของเนสท์เล่ (Nestle Purpose) ในการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิต เสริมสร้างสุขภาพดีสู่อนาคต (Enhancing quality of life and contributing to a healthier future) เราอยากเห็นเด็กรุ่นใหม่นำเอาเจตนารมณ์นี้ไปสานต่อในแบบฉบับของตัวเอง ในฐานะนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร ก็คือการนำเสนออาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการให้กับผู้บริโภค และนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีไปพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างสุขภาพที่ดีให้กับตัวเอง ครอบครัว ชุมชน ตลอดจนอนุรักษ์โลกของเราให้ยั่งยืนสืบไป"
สำหรับการแข่งขันในปีนี้มีนิสิตนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมแข่งขันกว่า 70 ทีม ทำการแข่งขันอย่างเข้มข้นในการตอบคำถาม 4 หมวด ได้แก่ 1. หมวดเคมีอาหาร (Food Chemistry) 2. หมวดความปลอดภัยและจุลชีววิทยาอาหาร (Food Safety and Microbiology) 3. หมวดการแปรรูปและวิศวกรรมอาหาร (Food Processing and Engineering) และ 4. หมวดทั่วไป (General) ซึ่งทีมจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี สามารถคว้าแชมป์ FoSTAT-Nestle Quiz Bowl 2017 รับถ้วยรางวัลชนะเลิศจาก นายอำพล เสนาณรงค์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งองคมนตรี และรางวัลการทัศนศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับภูมิภาคของเนสท์เล่ที่ประเทศสิงคโปร์
นางสาวภูมิใจ จารุรังสีพงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หัวหน้าทีมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเล่าว่า "รู้สึกดีใจที่ปีนี้คว้าแชมป์ได้สำเร็จต่อจากรุ่นพี่ที่เคยทำไว้ตอนปี 2552 และภูมิใจที่ได้เข้าร่วมแข่งขันในเวทีนี้ เพราะเป็นเวทีการแข่งขันสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารจากหลายๆ มหาวิทยาลัยได้นำความรู้ที่เรียนมาตลอด 4 ปีมาตอบปัญหาวิชาการร่วมกัน สิ่งที่ได้จากการแข่งคือ ทีมเวิร์คที่ทำให้เราช่วยกันคิด การให้กำลังใจกัน ได้สร้างมิตรภาพกับเพื่อนๆ จากทีมมหาวิทยาลัยอื่นๆ และนำสิ่งที่เรียนรู้จากกิจกรรมครั้งนี้มาปรับใช้ในอนาคตต่อไปค่ะ ดีใจที่พวกเราจะได้ไปดูงานที่เนสท์เล่ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นโอกาสที่เราจะได้ศึกษาด้านวิจัยและพัฒนาของบริษัทใหญ่ระดับโลก ส่วนตัวเองหลังจากเรียนจบอยากเป็นอาจารย์ เพราะจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป"