กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--กระทรวงพลังงาน
กระทรวงพลังงาน เดินสายมอบรางวัล "สุดยอดคนพลังงาน" ในโอกาสครบรอบการดำเนินโครงการพลังงานชุมชน 10 ปี สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนจำนวน 1,676 แห่ง เผยจัดมอบรางวัลสุดยอดคนพลังงานผ่านตลาดนัดพลังงานชุมชนครบทุก 4 ภาค โดยจัดงานครั้งที่ 2 มอบรางวัลภาคเหนือ 4 สาขา 17 จังหวัด เตรียมพร้อมผู้ชนะระดับภาคเข้าแข่งขันสุดยอด คนพลังงานระดับประเทศต่อไป
นายสมนึก บำรุงสาลี รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมพิเศษ มอบรางวัลสุดยอดคนพลังงาน ในโอกาสครบรอบ 10 ปีพลังงานชุมชน โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่จัดมอบรางวัลในภาคเหนือ ซึ่งมีจังหวัดผู้ชนะในภาคเหนือทั้งหมด 17 จังหวัด และคัดเลือกผู้ชนะที่เป็นสุดยอดระดับภาคอีกใน 4 สาขา สาขาละ 3 รางวัล รวมทั้งสิ้นแชมป์ภาคเหนือทั้งหมด 12 รางวัล เพื่อเดินหน้าเข้าแข่งขันสุดยอดคนพลังงานระดับประเทศต่อไป
"ในโอกาสครบรอบ 10 ปี พลังงานชุมชน กระทรวงพลังงานได้จัดกิจกรรมพิเศษมอบรางวัล "สุดยอดคนพลังงาน" ผ่านแนวคิด พลังงานสร้างคน คนสร้างพลังงานยั่งยืน เพื่อยกย่องบุคคลและองค์กรที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยม เป็นต้นแบบในการจัดการพลังงานที่ดีแก่สังคม ในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ โดยจัดมอบรางวัลครั้งแรกไปแล้วที่ภาคกลาง 25 จังหวัด ครั้งที่ 2 นี้ที่ภาคเหนือ มีผู้ชนะเข้ารอบ 17 จังหวัด และมาคัดเลือกผู้ชนะระดับภาคที่เป็นสุดยอดทั้ง 4 สาขาที่ร่วมแข่งขัน ซึ่งภาคเหนือก็เป็นอีกภาคหนึ่งที่มีความตื่นตัวมากเรื่องของพลังงานทดแทน มีการนำความรู้ที่ได้จากกระทรวงพลังงานไปต่อยอดพัฒนาพลังงานด้านต่างๆ ในท้องที่ของตนเองได้อย่างดี"
เกณฑ์การคัดเลือกและมอบรางวัล "สุดยอดคนพลังงาน" ผ่านแนวคิด "พลังงานสร้างคน คนสร้างพลังงานยั่งยืน" ประจำปี พ.ศ. 2560 แบ่งเป็น ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ โดยเริ่มมอบรางวัลครั้งที่ 1 ที่ภาคกลาง (จากทั้งหมด 4 ภาคทั่วประเทศ) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา สำหรับครั้งนี้เป็นการมอบรางวัลสุดยอดคนพลังงาน ครั้งที่ 2 ในภาคเหนือ จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก เริ่มจากมอบรางวัลผู้ชนะระดับจังหวัด และคัดสุดยอดของแต่ละจังหวัด เป็นผู้ชนะรางวัลระดับภาค โดยภาคเหนือนั้นมีจังหวัดผู้ชนะที่เข้าร่วม 17 จังหวัด ใน 4 สาขา และนำสุดยอดในแต่ละสาขา มาคัดเลือกเป็นผู้ชนะระดับภาคเพื่อเข้าสู่การแข่งขันในระดับประเทศต่อไป
โดย 4 สาขาที่มีการมอบรางวัล ประกอบด้วย 1.สาขาอาสาสมัครพลังงานชุมชนยอดเยี่ยม 2.สาขาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการพลังงานครบวงจรยอดเยี่ยม 3. สาขาวิสาหกิจลดใช้พลังงานยอดเยี่ยม 4.สาขาโครงการพลังงานชุมชนแบบมีส่วนร่วมยอดเยี่ยม และสำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลระดับภาค และสำนักงานพลังงานจังหวัดจะได้รับเชิญเข้าร่วมในพิธีมอบรางวัล "สุดยอดคนพลังงาน" ระดับประเทศต่อไป โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน 2560 ณ ห้องไดมอน ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต อีกทั้ง ภายในงานยังจัดให้มีกิจกรรม Open House "กิจกรรมเปิดบ้าน...พลังงานชุมชน" อีกด้วย
ด้านนายตามเฉลิมฬ์ จันทนาคร พลังงานจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า จังหวัดได้นำนโยบายของกระทรวงพลังงานมาขยายผลในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ภายใต้การดำเนินงานโครงการวางแผนพลังงานชุมชนที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนประเภทก๊าซชีวภาพ ล่าสุดมีการส่งเสริม 20 ชุมชนในพื้นที่ 9 อำเภอ ใช้เทคโนโลยี ก๊าซชีวภาพ เปลี่ยนของเสียเป็นพลังงานทดแทน ลดการใช้ก๊าซ LPG ประหยัดค่าใช้จ่าย สร้างความมั่นคงด้านพลังงานและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน อีกทั้งขยายผลการสร้างปราชญ์ชุมชนด้านพลังงานเพื่อสั่งสมองค์ความรู้ และคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำชุมชนที่สนใจต่อไป
"โครงการพลังงานชุมชนเป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก ทำให้แผนขับเคลื่อนด้านพลังงานของจังหวัดมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพราะเล็งเห็นศักยภาพของทรัพยากรในพื้นที่ชัดเจนขึ้น อย่างเช่นในภาคเหนือ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีตั้งแต่ขนาดครัวเรือนไปจนถึงฟาร์มขนาดเล็ก ทำให้สามารถนำมูลสัตว์และของเสีย มาเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้มด้วยเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนหันมาใช้พลังงานทดแทน แทนการใช้ก๊าซ LPG สำหรับการหุงต้มในครัวเรือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงานในครัวเรือนลงได้ร้อยละ 80 และยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากกลิ่นเหม็นของมูลสัตว์และแมลงต่างๆ ให้กับชุมชนได้อีกด้วย"
ปัจจุบัน โครงการวางแผนพลังงานชุมชน : Local Energy Planning (LEP) 2549 - 2560 ได้สร้างอาสาสมัครพลังงานชุมชน (อสพน.) จำนวนกว่า 6,042 คน โดย อสพน. คือประชาชนที่มีจิตอาสาทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน ในการขับเคลื่อน และพัฒนาพลังงานไทย ด้วยแนวคิด รู้-รักษ์-ตระหนัก-สร้าง กระจายในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยพัฒนาตนเองต่อยอดไปสู่นักวิจัยพลังงาน 380 คน ช่างเทคโนโลยีพลังงานชุมชน 172 คน นักสื่อสารพลังงาน 2,879 คน วิทยากร 514 คน และได้สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน จำนวน 1,676 ชุมชน ก่อเกิดแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน 210 แห่ง เกิดอาชีพด้านพลังงานที่ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีพลังงานระดับชุมชนจำนวน 172 แห่ง สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงาน 56 สร้างโอกาสพัฒนาต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชนลดใช้พลังงานกว่า 188 กลุ่ม สามารถลดค่าใช้จ่ายพลังงานได้ 5 ล้านบาทต่อปี และลดจากการประหยัดพลังงานของบ้านตัวอย่างได้ 28 ล้านบาทต่อปี เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการได้กว่า 8 แสนบาทต่อปี