กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--สนพ.
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หนุน มช.พัฒนาและติดตั้งระบบสมาร์ทบอยเลอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไอน้ำของหม้อน้ำด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้เชื้อเพลิง ลดการสิ้นเปลืองความร้อนและไฟฟ้า ภายในปี 2562 จะสนับสนุนหม้อน้ำ 262 ลูก มีผลการประหยัดรวมปีละ 83 ล้านบาท และมีศักยภาพการประหยัดทั่วประเทศกว่า 2,800 ล้านบาท/ปี เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ Industry 4.0
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าแผนการอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ของกระทรวงพลังงาน ได้กำหนดเป้าหมายที่จะลดความเข้มของการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2579 โดยต้องลดการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ให้ได้ทั้งสิ้น 56,142 ktoe โดยมีเป้าหมายของการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 22 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งหามาตรการประหยัดพลังงานที่ให้ผลการประหยัดอย่างเป็นรูปธรรม หม้อน้ำในโรงงานอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่า บอยเลอร์ มีจำนวนทั่วประเทศกว่าหนึ่งหมื่นลูกมีปริมาณการใช้พลังงานเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไอน้ำกว่า 7,700 ktoe/ปี คิดเป็นมูลค่าต้นทุนในการผลิตไอน้ำรวมกว่า 144,000 ล้านบาทต่อปี การหาแนวทางในการลดการใช้พลังงานในหม้อน้ำจึงเป็นมาตรการที่สำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายแผนการอนุรักษ์พลังงานดังกล่าวได้
ดังนั้นเพื่อเป็นการลดการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม กองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไอน้ำของหม้อน้ำด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ เพื่อศึกษา วิจัย พัฒนา และสาธิต เทคโนโลยีการควบคุมหม้อน้ำแบบอัตโนมัติ ที่ใช้เซ็นเซอร์ (sensors) ร่วมกับระบบควบคุมอัตโนมัติ (automatic control) เพื่อให้การผลิตไอน้ำสำหรับใช้ในขบวนการผลิตในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ผลการวิจัยและพัฒนาได้ระบบควบคุมอัตโนมัติที่มีคุณภาพระดับเกรดอุตสาหกรรม เป็นเทคโนโลยีของคนไทย และมีราคาต่ำเพียง 1 ใน 3 เทียบกับระบบที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมี 2 ประเภทคือ เทคโนโลยีการควบคุมประสิทธิภาพการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ใช้เซ็นเซอร์วัดปริมาณอ็อกซิเจน (O2 sensor) ในไอเสีย ร่วมกับชุดปรับอากาศสำหรับการเผาไหม้เชื้อเพลิงโดยการควบคุมความเร็วรอบของมอเตอร์พัดลม (VSD) และ เทคโนโลยีการควบคุมปริมาณน้ำโบลว์ดาวน์ที่ใช้เซ็นเซอร์วัดความเข้มข้นของสารไม่ละลาย (TDS) ของน้ำในหม้อน้ำ ผลการสาธิตใช้กับหม้อน้ำในโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 62 ลูก พบว่า เทคโนโลยีการควบคุมประสิทธิภาพการเผาไหม้เชื้อเพลิง สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของมอเตอร์ป้อนอากาศสำหรับการเผาไหม้ได้ประมาณ 12% ถึง 34% และลดการใช้เชื้อเพลิงลงได้ระหว่าง 1% ถึง 5% ในส่วนของเทคโนโลยีการควบคุมการโบลว์ดาวน์แบบอัตโนมัติสามารถลดการสูญเสียความร้อนลงได้ประมาณ 1.5% คิดเป็นผลการประหยัดพลังงานรวมได้กว่า 513 toe/ปี โดยมีระยะเวลาคืนทุนเฉลี่ยระหว่าง 0.5 ถึง 4 ปี ขึ้นกับเทคโนโลยีที่เลือกและระยะเวลาการทำงานของหม้อน้ำ
จากผลสัมฤทธิ์ดังกล่าว กองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เล็งเห็นว่ายังเหลือหม้อน้ำที่มีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานอีกจำนวนมาก ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จึงได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไอน้ำของหม้อน้ำด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ เพื่อดำเนินการต่อยอดการช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ใช้หม้อน้ำในกระบวนการผลิต เพิ่มอีกจำนวน 200 ลูก ด้วยการสนับสนุนเงินลงทุนร้อยละ 30 ผลการสนับสนุนจะมีผลการประหยัดรวมทั้งหมดจำนวนปีละ 83 ล้านบาท อย่างไรก็ดียังหม้อน้ำทั่วประเทศอีกจำนวนกว่า 8,000 ลูกที่ยังเป็นระบบเดิมที่ใช้คนในการควบคุมการทำงาน (manual control) ถ้าหากเปลี่ยนมาเป็นระบบควบคุมแบบอัตโนมัติจะมีศักยภาพผลการประหยัดรวมกว่า 2,800 ล้านบาท/ปี
โดยหากสนใจข้อมูลโครงการ "ขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไอน้ำของหม้อน้ำด้วยระบบควบคุมอัตโนมัต" โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร.053-944146 ต่อ 943 และ 085-0326311