กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง เป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศติดอันดับหนึ่งในสิบของสินค้าส่งออก มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 5 หมื่นล้านบาท และมีปริมาณการผลิตกว่า 200,000 เมตริกตันต่อปี อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งน้ำได้เริ่มขยายตัวอย่างมากในประเทศต่างๆทั่วโลก ทำให้ราคากุ้งเริ่มแปรผันไปตามความต้องการตลาดและมาตรการกีดกันทางการค้า ดังนั้นนอกจากความพยายามในการรักษาปริมาณการผลิต และพัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างยั่งยืนแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของกุ้งไทยในทุกๆด้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพสินค้าและราคาในตลาดโลกได้ อันนำไปสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ เล็งเห็นว่าการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของกุ้งไทยทั้งระบบนั้น จำเป็นต้องอาศัยความรู้ วิทยาการ เทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนการประยุกต์ความรู้และศาสตร์แขนงต่างๆที่ได้จากการวิจัยและพัฒนานำไปใช้มากยิ่งขึ้น นอกจากการสนับสนุนวิจัยและพัฒนาแล้ว ยังต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสารสนเทศ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยทั้ง ภาครัฐและเอกชน ภาคการผลิต และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย
ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ( ไบโอเทค ) กล่าวว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมกุ้งจะประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัจจุบัน ต้องประสบปัญหาอย่างรุนแรงทั้งในไทยและต่างประเทศ พอจะสรุปได้คือ การขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์และสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ การเกิดโรค ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และปัญหาทางการค้า ซึ่งจากการที่ไบโอเทคได้จัดให้มีการประชุมกุ้งทะเลแห่งชาติเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมาและนับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องจากมีผู้ที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในปีนี้ ไบโอเทคจึงได้ร่วมมือกับกรมประมง สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย จัดการประชุมวิชาการกุ้งทะเลแห่งชาติครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2543 ณ โรงแรมรอยัล ซิติ้ ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของงานวิจัย วิทยาการ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศ เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความข้อมูลและความคิดเห็นในเรื่องทิศทางการวิจัย เพื่อยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล
ภายในงานประกอบด้วย การบรรยายพิเศษในหัวข้อ "ตลาดโลกและแนวโน้มการส่งออกกุ้งของไทย" "ทิศทางการวิจัยด้านคุณภาพ พันธุกรรมและการเพาะพันธุ์ โภชนาการ สิ่งแวดล้อม และการจัดการบ่อและฟาร์ม" การเสนอผลงานวิชาการภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์แยกเป็นกลุ่มเทคโนโลยีการเลี้ยง และกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ โดยนักวิจัยและนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศ การแสดงนิทรรศการอุปกรณ์-เครื่องมือวิทยาศาสตร์จากภาคเอกชน และการเยี่ยมชมระบบโรงเพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้งของภาคเอกชนและสถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล
ประเทศไทย เป็นผู้นำการผลิตและส่งออกกุ้งกุลาดำของโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาความชำนาญและวิทยาการที่ถูกต้องเหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำและศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งการแสดงพลังแห่งความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้จึงเป็นการผลักดันให้เกิดการยกระดับมาตรฐานของกุ้งไทยที่อย่างชัดเจน อันจะนำไปสู่ความเป็นผู้นำของโลกด้านการผลิตกุ้งอย่างแท้จริง
ผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมวิชาการกุ้งทะเลแห่งชาติ ครั้งที่ 2 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวรรณี ชัยมงคล/คุณพล ธรรมรัชสุนทร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ โทรศัพท์ (02) 642-5322-31 ต่อ 116,220 โทรสาร 248-8303-5 E-mail : shrimpseminar@biotec.or.th หรือที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลฝั่งอันดามัน โทรศัพท์ (076) 212-2901-5,219330 โทรสาร (076) 217-814--จบ--
-อน-